กล้วยไม้ตระกูลเข็มเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดมาก นับว่าเป็นกล้วยไม้ที่แปลกกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น มีความทนต่อความร้อนสูง ดังนั้นในเรื่องของแสงผู้ปลูกไม่จำเป็นต้องกังวลหาอุณหภูมิที่พอเหมาะ สามารถวางทิ้งไว้กลางแดดได้สบาย กล้วยไม้ชนิดนี้จึงมักจะพบในทวีปเอเชีย กล้วยไม้ตระกูลเข็มถูกนับว่าเป็นสกุลแต่แท้จริงแล้วกล้วยไม้สกุลเข็มเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนดาที่มีขนาดเล็ก และได้รับสมญานามว่าเป็น “ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า”
กล้วยไม้ตระกูลเข็มพบได้ที่ไหนบ้าง
กล้วยไม้สกุลเข็ม ที่มีอยู่ในโลกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคพื้นทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีน พม่า ไทย ประเทศในแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยนั้นพบกล้วยไม้สกุลเข็มมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค บางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลเข็มหลายชนิด แต่บางภาคอาจมีเพียงชนิดเดียว ในประเทศไทยเราพบว่ามีกล้วยไม้สกุลเข็มปรากฏตามธรรมชาติอยู่ 4 ชนิด ได้แก่
ลักษณะของกล้วยไม้ตระกูลเข็ม
กล้วยไม้สกุลเข็มทุกชนิดดอกมีรูปร่างคล้ายกันแต่แตกต่างกันในเรื่องสีซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีสันสดใส เป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด มีลำต้นสั้น ใบเรียงแบบซ้อนทับกัน รากเป็นระบบรากอากาศ ออกดอกตามข้อของลำต้นระหว่างใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก
ประเภทของตระกูลเข็ม
กล้วยไม้สกุลเข็มปรากฏตามธรรมชาติในประเทศไทยมีอยู่ 4 ชนิด ดังนี้
- เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) ในประเทศไทยพบบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลงไปถึงจังหวัดตากและกาญจนบุรี พบในป่าที่มีระดับความสูง 100 – 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในต่างประเทศพบว่าเข็มแดงมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย ผ่านมาทางประเทศพม่าจนถึงประเทศไทย เป็นไม้ที่มีใบสีเขียวอ่อน ค่อนข้างอวบน้ำ ใบแคบ โค้ง เรียว ในฤดูแล้งขอบใบจะปรากฏจุดสีม่วงประปรายและจะหนาแน่นขึ้นเมื่อความแล้งเพิ่มมากขึ้น ดอกสีแดงอมส้ม ช่อดอกรูปทรงกระบอก ตั้งตรง แข็ง บานทนเป็นสัปดาห์ และออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
- เข็มหนู (Ascocentrum semiteretifolium) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับความสูง 1,800 – 1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างหายาก ลักษณะของต้นและดอกไม้เป็นที่นิยมของนักปลูกเลี้ยง เป็นกล้วยไม้ที่มีใบเป็นแบบใบกลม มีร่องลึกทางด้านบนของใบ มีดอกสีม่วงอ่อน
- เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบและที่เป็นภูเขา จึงสามารถปลูกเลี้ยงให้เจริญงอกงามและออกดอกได้สม่ำเสมอตามฤดูกาลในทุกภาคของไทย มีลำต้นไม่สูงนัก ใบเรียงซ้อนกันแน่น ใบอวบหนา ปลายใบเป็นฟันแหลม และโค้งเล็กน้อย ใบสีเขียวแก่ และอาจมีสีม่วงบ้างเล็กน้อย ดอกมีกลีบหนา ผิวกลีบเป็นมันสีส้มหรือสีเหลืองส้ม ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ มักออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
- เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) พบตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี เข็มม่วงมีลำต้นตั้งแข็ง ใบเป็นประเภทใบแบน ใบค่อนข้างแข็ง ไม่โค้งมากนัก ปลายใบตัดและเป็นฟันแหลม ๆ ไม่เท่ากันหลายฟัน ใบมีสีเขียวคล้ำ ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งจะปรากฏจุดสีม่วงเล็ก ๆ บนใบทั่วไป โดยเฉพาะใบที่อยู่ใกล้ ๆ ยอด ยิ่งแห้งแล้งมากจุดสีม่วงจะยิ่งเด่นชัดขึ้น ช่อตั้งเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่อ
เข็มม่วง
เข็มแสด
เข็มแดง
เข็มหนู
กล้วยไม้ตระกูลเข็มเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกสีสันสดใส เห็นแล้วสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่หาได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับชนิดด้วย ทั้งนี้ยังมีลูกผสมอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง กล้วยไม้ตระกูลเข็มถือเป็นอีกไม้หนึ่งที่คนไทยนิยมปลูกอย่างแพร่หลาย
REF : สวนพฤกษาศาสตร์ประเทศไทย