กล้วยไม้พันธุ์แท้

กล้วยไม้พันธุ์แท้ ความงามจากธรรมชาติ เสน่ห์สะกดใจ

กล้วยไม้พันธุ์แท้ ด้วยรูปร่าง และ การจัดวางส่วนประกอบของดอกกล้วยไม้โดยธรรมชาติที่ดูแปลกตา แต่ลงตัวดอกกล้วยไม้โดยทั่วไป จะมีส่วนประกอบหลัก ๆ มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก และ หนึ่งในกลีบดอกที่เรียกว่ากลีบปาก จะมีความแตกต่างจากกลีบดอกอื่น ๆ ในดอกเดียวกัน ทั้งรูปร่าง และ สีสัน นอกจากจะสะดุดตามนุษย์อย่างเรา ในธรรมชาติยังสามารถดึงดูด และ ล่อแมลงหลายชนิดโดยเฉพาะผึ้ง และ มด ที่เข้ามาตอมทั้งความหอม หรือ น้ำหวาน และ ช่วยผสมเกสรไปในตัวอีกด้วย 

แต่เนื่องจากตำแหน่งของเกสรเพศผู้ และ เพศเมียของกล้วยไม้ที่อาจจะอยู่ลึกลับซับซ้อนไปหน่อย ทำให้ในธรรมชาติมีการผสมพันธุ์จนเกิดเป็นฝัก เป็นเมล็ดได้น้อย จึงมีการผสมพันธุ์โดยมนุษย์ เกิดเป็นสายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสมมากมายอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ วันนี้ เราจะมาแนะนำสายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม มีทั้งสายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศ นำเข้าจากต่างประเทศ และ ผสมขึ้นมาใหม่ ทำให้กล้วยไม้จากประเทศไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม ในประเทศไทย ติดตามกันได้เลย

แนะนำ กล้วยไม้สวยงาม ยอดนิยม พันธ์ุแท้ 7 สายพันธ์ุ

ทำความรู้จักกับสายพันธ์ กล้วยไม้พันธุ์แท้ ยอดนิยม 2023

แคทลียา

แคทลียา

ดอกแคทลียา (Cattleya) เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกกลุ่มของพืชสกุล Cattleya ในตระกูล Orchidaceae หรือกล้วยไม้พันธุ์ดอกกล้วยไม้ พืชชนิดนี้มีความเป็นที่นิยมในวงกว้างเป็นพิเศษเนื่องจากดอกสวยงามและหอมพริ้ง ส่วนใหญ่มักถูกปลูกเป็นพืชสวนหรือในสวนกล้วยไม้เพื่อการดูแลและเพิ่มความสวยงามในสวนและบ้านคุณ

ดอกแคทลียามักมีลักษณะที่โดดเด่นด้วยสีสันสวยงามและมีรูปร่างที่เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่มีเกรดดอกที่ใหญ่และอวบอิ่ม โดยทั่วไปแล้ว เนื้อดอกแคทลียาเป็นสีสันสวยงามและมีลวดลายที่สะดุดตา เป็นพืชที่ให้ความรู้สึกเป็นผลงานศิลปะจากธรรมชาติ

เรียกว่าเป็นราชินีแห่งกล้วยไม้ก็คงไม่ผิดนัก ดอกของแคทลียามีรูปทรงเฉพาะตัวขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม บางสายพันธุ์ยังมีกลิ่นหอมชวนหลงใหลอีกด้วย เจริญเติบโตได้ดีในแถบภูมิอากาศร้อน จึงเหมาะกับการนำมาปลูกในประเทศเรามากที่สุด

รองเท้านารี

เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือ บุหงากะสุต (ภาษามาเลเซีย หมายถึงรองเท้าของสตรี) กลีบดอก หรือ ที่เรียกว่า ‘กระเป๋า’ มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรี และ รองเท้าไม้ของชาวเนเธอร์แลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะ และ สีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และ เขตร้อน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และ ในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่ว ๆ ไป 

บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน หรือ ซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึงรองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และ ซิมบิเดียม

รองเท้านารี
  • ต้น หรือ ไรโซม หรือ เหง้า ต้นหนึ่ง หรือ กอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น
  • ราก ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น ทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป
  • หน่อใหม่ จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า
  • ลำต้น สั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย
  • ใบ มีขนาดรูปร่างต่างกันไป มีใบยาว ใบตั้ง ใบทอดขนานกับพื้น ใบมีลาย
  • ดอก ออกที่ยอด มีทั้งชนิดดอกเดี่ยว และ ดอกเป็นช่อ

กลีบดอก หรือ กลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้ 

โดยธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีทุกชนิด เมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป แต่ก่อนตายจะแตกหน่อทดแทน ซึ่งหน่อนี้ก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ต่อไป ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้รองเท้านารี ที่สำรวจพบ ได้แก่ รองเท้านารีอินทนน รองเท้านารีเหลืองปราจีน รองเท้านารีเมืองกาญจน์ รองเท้านารีเหลืองตรัง รองเท้านารีอ่างทอง รองเท้านารีสุขะกุล รองเท้านารีเหลืองกระบี่ รองเท้านารีเหลืองพังงา รองเท้านารีคางกบ รองเท้านารีฝาหอย รองเท้านารีขาวสตูล รองเท้านารีเหลืองเลย รองเท้านารีเชียงดาว และ รองเท้านารีม่วงสงขลา

ฟาแลนนอปซิส

ฟาแลนนอปซิส

ได้ฉายาว่าเป็นกล้วยไม้ผีเสื้อกลางคืนตามชื่อภาษากรีก มีดอกบานใหญ่ ใบกว้าง ลำต้นอวบเป็นปล้อง ช่อดอกยาว และ เป็นกล้วยไม้ที่แข็งแรง ปรับตัวตามสภาพที่ต้องเผชิญได้ กล้วยไม้สกุลนี้ได้ถูกปรับปรุงพันธุ์ และ ผสมกันมาหลายทอด ทำให้สวยงามทั้งรูปทรงดอก และ สีของดอก ดอกกลมใหญ่ กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง ก้านช่อยาว เหมาะสำหรับปักแจกัน ต้นหนึ่งออกดอกได้หลายช่อ แต่ละพันธุ์ออกดอกต่างเดือยกัน บางชนิดออกดอกในเดือนที่ตลาดต้องการดอกไม้ตัดดอก เหมาะสำหรับผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอก สามารถผสมข้ามสกุลกับสกุลกล้วยไม้สกุลต่าง ๆ ได้หลายสกุล เช่น ผสมกับสกุลแวนด้า ผสมกับสกุลอะแรคนิส ผสมกับสกุลเรแนนเทอร่า เป็นต้น

แวนด้า

ในแถบเอเชียพบในป่าธรรมชาติได้มากถึง 40 ชนิด แวนด้าชอบการปลูกอยู่ในกระถางโปร่ง หรือ ตะกร้าแบบแขวนมากกว่าอยู่ในกระถางตั้งพื้น เพราะอากาศมีความจำเป็นต่อแวนด้าเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับการจำหน่ายเป็นไม้กระถาง แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภท ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบน หรือ ร่อง ใบซ้อนสลับกัน 

ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาว และ แข็ง กลีบนอก และ กลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และ ไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และ พุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็ง และ ตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของแวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น 4 ประเภท คือ

แวนด้า
  • แวนด้าใบกลม เลี้ยงง่ายที่สุด สามารถปลูกลงแปลงกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องมีโรงเรือน แต่ดอกมักจะบานไม่ทน มีลักษณะของใบกลมยาว ทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง สังเกตได้ที่ใบติดอยู่ห่าง ๆ กัน มีดอกช่อละหลายดอก ดอกจะบานติดต้นอยู่คราวละ 2 ถึง 3 ดอกเท่านั้น เมื่อดอกข้างบนบานเพิ่มขึ้น ดอกข้างล่างจะโรยไล่กันขึ้นไปเรื่อย ๆ การปลูกใช้ดอกจึงนิยมปลิดดอกมากกว่าตัดดอกทั้งช่อ
  • แวนด้าใบแบน เลี้ยงยากที่สุด ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ฟ้ามุ่ย เพราะดอกใหญ่ สีสวย การเลี้ยงแวนด้าใบแบนจำเป็นต้องมีโรงเรือนเพราะต้องการแสงที่พอเหมาะ ลักษณะใบแผ่แบนออก หน้าตัดจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ปล้องสั้น ใบซ้อนชิดกัน ปลายใบโค้งลง และ จักเป็นแฉก
  • แวนด้าใบร่อง ทรงของใบ และ ลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม ประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมาปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน ถูกผสมขึ้นเพื่อให้ปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น แต่ดอกมักจะสีไม่สวย และ ปากหักง่าย
  • แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบ และ ลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน กล้วยไม้กลุ่มนี้พบว่าเป็นหมันเสียส่วนใหญ่ จึงพบว่ามีจำนวนในธรรมชาติน้อยมาก

ชนิดพันธุ์ของแวนด้า ที่มักพบได้ง่าย มีดังนี้

  • เอื้องโมกข์-เป็นกล้วยไม้ป่าพื้นเมืองของไทย
  • แวนด้าฮุกเคอเรียน่า-มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศไทย
  • ฟ้ามุ่ย-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือของไทย
  • เอื้องสามปอยขาว
  • เอื้องสามปอยชมพู
  • เอื้องสามปอยขุนตาล-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
  • เอื้องสามปอยหลวง-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • เข็มขาว-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคกลางตอนบน
  • แวนด้าไตรคัลเลอร์-เป็นกล้วยไม้แวนด้าพื้นเมืองของชวา
  • แวนด้าแซนเดอเรียน่า-มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศฟิลิปปินส์
  • แวนด้าเดียรีอิ-มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะบอเนียว
  • แวนด้าอินซิกนิส-เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของเกาะโมลูกัส

กล้วยไม้สกุลหวาย

เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย ออกดอกขนาดใหญ่ ลำต้นแตกหน่อเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ กล้วยไม้พันธุ์แท้เหล่านี้ดูแลรักษาง่ายไม่ต้องยุ่งยากอะไรมากนัก กล้วยไม้หวายป่าของไทยมีสีสวยงาม ก้านช่อสั้น สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทย มีหลายชนิดอันได้แก่พวก “เอื้อง” ต่าง ๆ เช่น

  • เอื้องผึ้ง
  • เอื้องม่อนไข่ เอื้องม่อนไข่ใบมน
  • เหลืองจันทบูร-มีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดจันทบุรี
  • พวงหยก หวายปม
  • เอื้องช้างน้าว เอื้องคำตาควาย
  • เอื้องมัจฉาณุ
  • เอื้องเงินหลวง
  • เอื้องเงิน
  • เอื้องเงินแดง
  • เอื้องมะลิ แส้พระอินทร์
  • เอื้องสายประสาท เอื้องสายน้ำผึ้ง
  • เอื้องเก๊ากิ่วแม่สะเรียง เอื้องไม้ตึง
  • เอื้องแปรงสีฟัน
  • เอื้องสายหลวง เอื้องสาย
  • เอื้องครั่ง
  • เอื้องคำ
  • แววมยุรา
กล้วยไม้สกุลหวาย

กล้วยไม้สกุลเข็ม

ได้สมญาว่าเป็น “ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิ หรือ แบบกระเป๋า” เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น ช่อดอก ขนาดดอก และ มีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่น ๆ ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่ 4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และ เข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ คือ เข็มแดง เข็มแสด และ เข็มม่วง

กล้วยไม้สกุลเข็ม

กล้วยไม้สกุลช้าง

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีน และ หมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างมีกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ บางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลช้างชนิดหนึ่งแต่อาจไม่มีอีกชนิดหนึ่ง กล้วยไม้สกุลช้างที่พบตามธรรมชาติเพียง 4 ชนิด คือ ช้าง ไอยเรศ หรือ พวงมาลัย เขาแกะ และ ช้างฟิลิปปินส์ สำหรับ 3 ชนิดแรกมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และ ประเทศใกล้เคียง ส่วนช้างฟิลิปปินส์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ 

นอกจากนี้ ยังมีชนิดอื่นอีก เช่น ช้างกระ ช้างแดง ช้างเผือก กล้วยไม้ช้างเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากเนื่องจากเลี้ยงได้ง่าย ออกดอกทุกปี การที่กล้วยไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า “ช้าง” อาจมาจากสองกรณีคือ ลักษณะที่มีลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และ ดอกใหญ่กว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น อีกกรณีหนึ่งอาจเป็นเพราะดอกตูมของกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายหัวช้างและ มีเดือยดอกคล้ายกับงวงช้าง

กล้วยไม้สกุลช้าง
Facebook
Twitter
LinkedIn