สกุลกุหลาบ (Aerides) เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย และ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดด ๆ หรือ ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง มักมีกลิ่นหอม มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ กลีบดอกผึ่งผายสวยงามสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และ ผสมข้ามสกุลต่าง ๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า (Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis)
แหล่งกระจายพันธ์ุ กล้วยไม้สกุลกุหลาบ
สกุลกุหลาบ กล้วยไม้สกุลกุหลาบพบในป่าธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ญี่ปุ่น
การปลูกเลี้ยง กล้วยไม้สกุลกุหลาบ
สกุลกุหลาบ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลกุหลาบ มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับ แวนด้าใบแบน เอื้องกุหลาบทุกชนิดสามารถเลี้ยงให้ออกดอกได้ในภาคกลาง แต่บางชนิดก็เจริญงอกงามสู้ปลูกเลี้ยงในแหล่งกำเนิดไม่ได้ เช่น กุหลาบอินทจักร กุหลาบเอราวัณ เป็นต้น เอื้องกุหลาบส่วนใหญ่จะออกดอกในปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน ฉะนั้นเมื่อเข้าฤดูแล้ง อย่าให้น้ำมากนัก จะทำให้เติบโตสมบูรณ์มากจนลืมออกดอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกเลี้ยงในกรุงเทพ ฯ ซึ่งมีฤดูกาลที่ไม่แน่นอน
กล้วยไม้สกุลกุหลาบ ที่นิยมปลูกเลี้ยงกันทั่วไป
สกุลกุหลาบ พวกเอื้องกุหลาบที่นิยมปลูกเลี้ยงกันทั่วไป เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะ และ สีสันสวยงาม ปลูกเลี้ยงง่ายเจริญเติบโตได้ดีสามารถขยายพันธุ์ หรือ ผสมกับกล้วยไม้ในสกุลกุหลาบ หรือ สกุลอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างกล้วยไม้ในสกุลกุหลาบที่พบในประเทศไทย เช่น
- มาลัยแดง (Aerides multiflora) เป็นเอื้องกุหลาบใบแบนแต่มีร่องใบลึก ผิวใบมันเล็กน้อย ใบหนา ดอกในช่อแน่น ช่อดอกเป็นพวงโค้งห้อยลง เวลาแทงช่อดอก ก้านช่อมักจะสอดอยู่ในร่องของใบ ทำให้ขาดความสวยงามเมื่อดอกบาน ดังนั้นเมื่อแทงช่อดอก ต้องงัด ดึง หรือ ดัดให้ช่อดอกออกมาจากร่องของใบ ปากของกุหลาบมาลัยแดงเป็นรูปหัวใจ กลีบดอกสีม่วงแดง ที่โคนกลีบสีขาว และ สีจะเข้มขึ้นจนสุดที่ปลายกลีบ ออกดอกในช่วง เดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม
- กุหลาบเอราวัณ หรือ กุหลาบน่าน (Aerides rosea ชื่อพ้อง Aerides fieldingii) ลักษณะดอกคล้ายมาลัยแดงมาก เดือยดอกสั้น ช่อดอกมีก้านส่งแข็ง แต่ส่วนช่อที่ติดดอกจะโค้งห้อยลง กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีม่วง แดง ที่ปลายกลีบมีจุดสีม่วงแดงประปราย ปากสีม่วงแดง ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ใบจะบาง และ สั้นกว่ามาลัยแดง แต่ใบไม่มีร่องลึกเหมือนมาลัยแดง
- กุหลาบอินทจักร (Aerides flabellata) ลักษณะใบเรียงตัวซ้อนกันค่อนข้างแน่น แผ่นใบหนา และ เหนียว ผิวใบแห้ง กุหลาบอินทจักรเป็นเอื้องกุหลาบช่อตั้งดอกในช่อโปร่ง มีเดือยดอกยาวเห็นได้ชัด และ โค้งงอนสวยงาม กลีบเลี้ยง และ กลีบดอกมีสีเขียวอมเหลือง และ มีแต้มสีน้ำตาลอมม่วง ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม
- กุหลาบแดง (Aerides crassifolia) เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะสวยงาม มีใบสั้นแบนแต่หนา ช่อดอกเอน หรือ โค้งลงยาวใกล้เคียงกับใบ ดอกในช่อโปร่ง สั้น ดอกมีสีม่วงแดง ดอกมีขนาดใหญ่กว่าเอื้องกุหลาบชนิดอื่น ๆ ออกดอกในช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม
- กุหลาบพวงชมพู (Aerides krabiensis) หรือ กุหลาบกระบี่ พบครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงเกาะต่าง ๆ ทางภาคใต้ของไทย ต้นค่อนข้างผอมมักแตกเป็นกอ แผ่นใบเล็กค่อนข้างหนา และ เรียงซ้อนกันถี่ ผิวใบมักจะมีจุดประสีม่วงแดง ช่อดอกตั้งเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เดือยดอกสั้นมาก ปลายปากกว้างมน ดอกมีพื้นขาว มีจุดประสีม่วงแดง หรือ ชมพูเข้ม กลางแผ่นปากมีสีแดงเข้มคล้ายกุหลาบมาลัยแดง ออกดอกระหว่าง เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
- กุหลาบกระเป๋าเปิด (Aerides falcata) เป็นกุหลาบที่เลี้ยงง่ายที่สุด เมื่อต้นสูงขึ้นจะห้อยหัวลง อาจยาวได้ถึง 1 เมตร และ แตกแขนงเป็นกอใหญ่ ๆ แผ่นใบค่อนข้างบางแต่เหนียว บิดพลิ้วเล็กน้อย ช่อดอกเป็นพวงห้อยลง พื้นกลีบดอกเป็นสีขาว มีแต้มสีม่วงอมชมพูที่ปลายกลีบ ออกดอกประมาณ เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เหมาะกับการปลูกติดต้นไม้ เมื่อออกดอกแต่ละต้นจะออกได้หลายช่อ ถ้าปลูกเป็นกอใหญ่ ๆ จะสวยงามมาก
- กุหลาบกระเป๋าปิด (Aerides odorata) ลำต้นตั้ง หรือ เอนย้อยห้อยลง แผ่นใบค่อนข้างหนา และ เหนียว เรียงตัวซ้อนกันถี่ ๆ ผิวใบแห้ง ช่อดอกยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร ช่อดอกห้อยลง กลีบดอกเป็นสีขาว ปลายกลีบเป็นสีม่วงอมแดงอ่อน ๆ ส่วนปลายปากเป็นสีม่วง เดือยดอกโค้งงอนขึ้นคล้ายเขา ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกประมาณ เดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม
- กุหลาบเหลืองโคราช (Aerides houlettiana) ลักษณะใบสั้น แผ่นใบแข็ง และ หนา แผ่แบน ช่อดอกเป็นพวงห้อยลง ดอกในช่อค่อนข้างแน่น ดอกมีพื้นกลีบสีเหลือง มีแต้มที่ปลายปากเป็นสีม่วงแดง ดอกบานเกือบพร้อมกันทั้งช่อ มีกลิ่นหอมคล้ายกุหลาบกระเป๋าเปิด ปลูกเลี้ยงง่าย ออกดอกประมาณ เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
สกุลกุหลาบ ลูกผสมของเอื้องกุหลาบที่น่าสนใจ เช่น
– ลูกนก (Aeridocentrum Luke Nok) ลูกผสมระหว่างอินทจักร กับ เข็มแดง
– จำปาทอง (Aeridocentrum Champatong) ลูกผสมระหว่างกุหลาบเหลืองโคราช กับ เข็มแสด
– โบกอ (Aeridachnis Bogor) ลูกผสมระหว่างกุหลาบกระเป๋าปิด กับ แมลงปอ ฮุกเกอเรียนา
– กุหลาบบางกอก (Aerides Bangkok) ลูกผสมระหว่างกุหลาบกระเป๋าเปิด กับ มาลัยแดง
– กุหลาบผุสดี (Aerides Pussadi) ลูกผสมระหว่างกุหลาบกระเป๋าเปิด กับ กุหลาบกระเป๋าปิด