แสงกับกล้วยไม้ กล้วยไม้ ถึงแม้จะได้รับให้เป็นพืชที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดบนโลกใบนี้แต่มันก็ยังจำเป็นต้องใช้แสงในการดำรงชีพอยู่ดี ในสภาพธรรมชาติ เรามักพบเห็นกล้วยไม้ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้สูง หรือ ตามกิ่งไม้ บ้างก็ขึ้นอยู่บนโขดหิน บางชนิดก็อาจขึ้นบนพื้นดิน แม้แต่ในน้ำกล้วยไม้บางชนิดก็สามารถปักหลักจุ่มรากลงไปได้ และ ยิ่งบริเวณใดก็ตามที่มีแสงทอดผ่าน และ มีอุณหภูมิมิความชื้นพอเหมาะ บริเวณนั้นมักเป็นพื้นที่ที่มีกล้วยไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น สันนิษฐานได้ว่า กล้วยไม้ที่เติบโตทางด้านฝากตะวันออกอาจจะได้รับไอแสงแดดอุ่น ๆ ในยามเช้าเมล็ดจึงเติบโต และ งอกได้ดี ในขณะที่บางส่วนของเมล็ดที่ปลิวไปพบกับสภาพแสงที่แรงจัดในช่วงบ่ายเป็นไปได้ว่าอาจทำให้เมล็ดถูกเผาสุกไป จึงไม่งอกเป็นต้น ในขณะต้นที่เริ่มงอกแล้วในฟากตะวันออกจะเริ่มเติบโตผลิใบ และ ในช่วงกลางวันนี้เอง ทิศทางแสงที่ส่องตรงมายังฟากฟ้าอาจถูกใบไม้จากต้นไม้ใหญ่บดบังทำให้กล้วยไม้ได้รับแสงเพียงรำไร แสงแดดที่ร้อนระอุนี้จึงไม่แผดเผาลูกไม้จนไหม้เกรียม กล้วยไม้ที่อยู่รอดเหล่านี้จึงสามารถเติบโต และ ขยายพันธุ์ต่อไป
แสงกับกล้วยไม้ กับการปลูกเลี้ยง
แสงกับกล้วยไม้ ในการปลูกเลี้ยง เราสามารถ จัดแจง และ ปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ของกล้วยไม้ได้ ในเรื่องแสง นับว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เหมาะสมกับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ เป็นอย่างมาก ได้เปรียบ กว่า ทางยุโรปหรือ ทาง ประเทศในเขตหนาว ซึ่งสภาพแวดล้อมไม่ค่อยเอื้ออำนวย ต่อการเลี้ยงกล้วยไม้ ทำให้ในต่างประเทศเหล่านั้นไม่สามารถปลูกกล้วยไม้ไว้ภายนอกอาคาร กลางแจ้งได้ ต้องอาศัยทำโรงเรือน กระจกปกป้องอากาศหนาว และ พึ่งพาเครื่องมือ และ อุปกรณ์ในการให้แสง และ ความชื้น เช่นหลอดไฟ และ มิเตอร์ต่าง ๆ สำหรับให้หมอก ซึ่งรวม ๆ ล้วนเป็นต้นทุนที่สูง แต่กลับกันต่างประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นนี้ สามารถเลี้ยงกล้วยไม้ที่ชอบอากาศเย็นได้ดี ซึ่งก็เป็นข้อดี ข้อเสีย แลกสลับกัน
หลักการการให้แสงกับกล้วยไม้
แสงกับกล้วยไม้ ให้แสงอย่างพอเพียงมากที่สุด ยึดหลัก “เท่าที่ต้นกล้วยไม้ทนได้” ยิ่งชั่วโมงที่กล้วยไม้ได้รับแสงมากเท่าใด นั่นหมายถึงว่า กล้วยไม้ยิ่งได้มีการปรุงอาหารกักเก็บไว้ได้มากขึ้นเท่านั้น
*ในอดีต การพรางแสงกล้วยไม้ทำโดยใช้ทางมะพร้าวในการพรางแสง แต่ทว่าทางมะพร้าวนั้นผุอย่างรวดเร็ว ซ้ำยังเป็นที่อยู่ของแมลงศัตรูกล้วยไม้ ภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้ไม้ระแนงแทน โดยใช้วัสดุเป็นไม้เนื้อแข็ง ตอกระแนงห่างกันเป็นซี่ วางห่างกันเป็นช่อง ๆ เพื่อให้ความเข้มของแสงลดลง และ เงาของไม้ระแนงจะเฉียงไปเรื่อย ๆ ตามองศาของแสงกล้วยไม้จึงไม่ถูกแดดเผาเป็นเวลานาน ๆ ต่อมาซาแรนพลาสติกถือกำเนิดขึ้น มันเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานนาน น้ำหนักเบา ใช้งานง่ายพรางแดดได้ดี แสงที่กระจายตัวสม่ำเสมอ และ ดูดซับความร้อนได้มาก ทำให้กล้วยไม้ได้รับแสงเต็มที่ การพรางแสงให้กับกล้วยไม้ที่เหมาะสมกับกล้วยไม้ ส่วนใหญ่ ทั่ว ๆ ไปใช้การพรางด้วยซาแรน ในโรงเรือนประมาณ 50 – 70% เมื่อใช้งานไปนาน ๆ 5 ปี ขึ้นไปควรตรวจดูแสงในโรงเรือนเพราะซาแรนจะบางลงทำให้แสงมากขึ้น อาจเป็นอันตรายกับกล้วยไม้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่
* หมายเหตุ * ซาแรนพลางแสง 40% หมายถึง แสงลอดผ่านได้ 60% ที่เหลือ 40% แสงลอดผ่านไม่ได้ สำหรับการ ปลูกเลี้ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามบ้าน หรือ แม้แต่ตามคอนโด เราสามารถหาทำเลที่ได้รับแดดรำไร ช่วงเช้าก่อนเที่ยง ไว้สำหรับแขวนปลูกกล้วยไม้ได้ส่วนใหญ่ตามบ้านมักจะปลูกไว้ในสวนหน้าบ้าน หรือ ข้างบ้านซึ่งน่าจะได้รับแสง และ ลมได้ดีกว่า บริเวณที่อับลม อาจทำโรงกล้วยไม้เล็ก ๆ หรือ แขวนตามใต้ ร่มไม้ยืนต้น แต่ เราควร ตัด ริด กิ่งก้านของต้นไม้นั้นเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แสงลอดลงมาถึงกล้วยไม้ ถ้าร่มทึบมากไปจะทำให้กล้วยไม้ลำลูกกล้วยผอมยาว ออกดอกยาก ใบ และ หน่อใหม่ยาว มีสีเขียวเข้ม และ ต้นอ่อนแอต่อโรคแมลงได้ง่าย ซึ่งตรงกันข้าม กับกล้วยไม้ที่ได้รับ แสงแดดมากไป อาการจะมีใบสีเหลืองจัด จนกระทั่งใบไหม้เป็นวงสีดำ ๆ รากจะไม่ค่อยออก ลำลูกกล้วยแคระแกร็น ผอมเป็นร่อง ๆ และไม่นานต้นก็โทรมตายในที่สุด
แสงกับกล้วยไม้บางประเภท ที่ชอบแสงแดดจัด
แสงกับกล้วยไม้ ก่อนเลี้ยงกล้วยไม้ชนิดใด ควรศึกษาให้ทราบเสียก่อนว่าชนิดที่จะเลี้ยงนั้นชอบแสงมาก หรือ น้อย เมื่อทราบดีแล้ว การปลูกเลี้ยงให้สวยงามให้เป็นไปดั่งที่คาดคิดก็ไม่ยากอีกต่อไปครับ แต่ก็มีกล้วยไม้บางชนิดที่ชอบแสงแดดจัด บางชนิดสามารถยืนต้นกลางแจ้งผลิดอกบานสะพรั่งได้อย่างไม่สะทกสะท้าน เช่นพันธุ์กล้วยไม้ดังต่อไปนี้
๏ เอื้องโมก และ ลูกผสมเอื้องโมกต่าง ๆ ( Papilionanthe teres )
๏ ทาโพรบาเนีย สปาตูลาต้า ( Taprobanea spatulata) = กล้วยไม้จากศรีลังกา*
๏ แมลงปอ (Aracnis spp.)
๏ รีแนนเทอร่า (Reanthera spp.)
๏ เอื้องช้างน้าว (Dendrobium pulchellum)
๏ เอื้องแปรงสีฟัน(Dendrobium secundum)
๏ เอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi)
๏ เอื้องผึ้งจิ๋ว (Dendrobium jenkinsii) = กล้วยไม้จาก อินเดีย – พม่า *
๏ เข็มแสด (Ascocentrum miniatum)
๏ กุหลาบแดง (Aerides crassifolia)
๏ เอื้องสีเที่ยง , กระเจี้ยง (Epigenium amplum)
๏ ลุยเซีย บางชนิด (Luisia spp.)
๏ ม้าวิ่ง และ แดงอุบล ( Doritis pulcherrima)
๏ ว่านเพรชหึง (Grammatophyllum speciosum)
๏ เอื้องไผ่ (Arundina graminifolia)
๏ เอื้อง เกศาพระเจ้า,จุกพรามณ์ (Acriopsis indica)
๏ เหลืองพิสมร (Spathoglottis affinis) = กล้วยไม้ดิน* กลุ่มเอื้องดินใบหมาก
๏ สิงโตเสมอหิน (Bulbophyllum blepharistes)
๏ เอื้องเทียนใบหมาก (Coelogyne trinervis)
๏ เอื้องเขาเยือง (Liusia recurva)
๏ เอื้องเสือโคร่ง (Staurochilus fasciatus)
๏ เขาพระวิหาร (Hygrochilus lissochiloides) = ชื่อสกุลเดิม Vandopsis lissochiloides
๏ เอื้องเก้ากิ่ว (Dendrobium nobile)
๏ เหลืองจันทรบูรณ์ (Dendrobium friedericksianum)
๏ หวายตะวันตก ( Dendrobium fytchianum ) *กล้วยไม้จากพม่า
๏ เอื้องแววมยุรา (Dendrobium fimbriatum)
๏ เอื้องผาเวียง (Dendrobium albosaguinium)
๏ กาเรการ่อน (Cymbidium aloifolium:, Cymbidium bicolor)
๏ เอื้องทอง (Dendrobium ellipsophyllum)
๏ เอื้องตะขาบ (Dendrobium acinaciforme)
๏ เอื้องตะขาบขุนตาน (Dendrobium indivisum)
๏ เอื้องคำปอน (Dendrobium dixanthum)
๏ เอื้องข้าวเหนียวลิงลำสั้น (Dendrobium delacourii)
๏ เอื้องเงินขาว (Dendrobium draconis)
๏ เอื้องครั่งแสด (Dendrobium unicum)
๏ เอื้องเก้ากิ่วแม่สะเรียง , ตอติเล (Dendrobium tortile)
๏ เอื้องนิ่มบางชนิดเช่น เอื้องตาลหิน และ เอื้องนิ้วนาง (Eria discolor) , (Eria panea)
ฯลฯ
*บางชนิดชอบแสงจัด แต่อยู่อากาศเย็น หากนำมาเลี้ยงบนพื้นราบ ถึงให้แสงมากแต่อากาศร้อนก็ไม่รอดเหมือนกัน เช่น เข็มชมพู ที่พบบนดอยอินทนนท์ ชอบแดดจัด แต่ก็ชอบอากาศเย็น เมื่อนำลงมาเลี้ยงด้านล่าง ในสภาพแสง จัดก็พบว่า ถูกเผาตายในที่สุด แต่หากให้อยู่ร่ม ก็จะเน่าตายเช่นกัน
แสงกับกล้วยไม้ กล้วยไม้ที่ได้รับแสงในปริมาณที่เหมาะ และ พอเพียงจะให้ดอกได้ง่ายกว่า กล้วยไม้ที่อยู่ในที่ร่มทึบ หลาย ๆ คนที่กำลัง ฝึกเลี้ยงกล้วยไม้มักพบกับปัญหากล้วยไม้ไม่ออกดอก ให้ลองคำนึงถึงเรื่องแสงดูว่ากล้วยไม้ที่เราเลี้ยงนั้น ได้รับแสงที่ พอเพียงต่อเขาแล้ว หรือ ยัง ? *ข้อสังเกต กล้วยไม้ที่ได้รับแสงอย่างพอเหมาะจะมีลำต้นอวบ ใบหนาอวบ ให้ดอกเก่ง ลำต้นยืดยาวโตเร็ว ในขณะ กล้วยไม้ที่ได้รับแสงน้อยจะมีลักษณะโทรม ทรงใบตก ไม่ตั้งหงายขึ้น ลำต้นเริ่มโค้งงอ ซึ่งทิ้งไว้นาน ๆ อาจตาย ในที่สุด หรือ ถูกโรคกล้วยไม้ต่าง ๆ รุมเร้าจนตายได้ เป็นต้น