ประเทศไทย นับว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งกำเนิดสำคัญของกล้วยไม้สายพันธุ์ต่าง ๆ รวมไปถึง “แวนด้า (Vanda)” ที่นับว่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์กล้วยไม้ที่มีแหล่งกำเนิดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงประเทศไทย โดยแวนด้านับว่าเป็นสกุลของกล้วยไม้ป่า ที่ปัจจุบันเราสามารถพบได้ให้แหล่งธรรมชาติ หรือเขตอุทยานต่าง ๆ ได้ค่อนข้างยากพอสมควร แต่ในทางกลับกันก็มีนักวิชาการ รวมไปถึงฟาร์มเพาะเลี้ยงกล้วยไม้หลาย ๆ แห้งได้มีความพยายามที่จะเพาะพันธุ์กล้วยไม้ในสกุลแวนด้า เพื่อเป็นทั้งการอนุรักษ์และการพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นกล้วยไม้ในกลุ่มสกุลนี้ได้ง่ายขึ้น และสามารถซื้อมาปลูกประดับสวนได้แบบไม่ผิดกฎหมายอีกด้วย
ลักษณะเฉพาะของกล้วยไม้ในสกุลแวนด้า
กล้วยไม้ในกลุ่มสกุลแวนด้าที่เราสามารถพบเห็นได้ในธรรมชาตินั้นมีมากกว่า 40 ชนิด ซึ่งยังไม่นับรวมสายพันธุ์ที่มีการผสมข้ามสายพันธุ์ ดังนั้นกล้วยไม้ในสกุลแวนด้าจึงมีความหลากหลาย แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติ เพราะหากใครที่เป็นสายกล้วยไม้คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า กล้วยไม้หนึ่งสกุลสามารถมีสายพันธุ์ที่แตกออกไปมากกว่าสิบไปถึงร้อยสายพันธุ์เลยก็ว่าได้ ดังนั้นการที่จะบอกลักษณะของกล้วยไม้ในกลุ่มของแวนด้าให้ครบทุกชนิดนั้นจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ค่อนข้างยาก
ดังนั้นเราจึงขอจำแนกกล้วยไม้ในกลุ่มสกุลแวนด้าออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่แวนด้าใบกลม ,แวนด้าใบแบน, แวนด้าใบร่อง และ แวนด้าก้างปลา ซึ่งเราจะนำชนิดของกล้วยไม้ที่อยู่ในแต่ละกลุ่มมายกตัวอย่างให้ทุกคนได้ดูกัน
กล้วยไม้ 4 ชนิดที่อยู่ในสกุลแวนด้า และได้รับความนิยมสูง
- เอื้องโมกข์ Vanda teres แวนด้าใบกลม ที่ดูแลง่ายที่สุดในกลุ่มของแวนด้า โดยไม้ชนิดนี้สามารถปลูกลงกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องอาศัยโรงเรือนอีกด้วย
- ฟ้ามุ่ย Vanda coerulea หากกล่าวถึง “ฟ้ามุ้ย” คงไม่มีใครไม่รู้จักกล้วยไม้พันธุ์นี้ เนื่องจากฟ้ามุ่ยนับว่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์กล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง โดยไม้ชนิดนี้เป็นแวนด้าใบแบน เหมาะกับการนำไปปลูกประดับสวยโดยการห้อยในกระถางเป็นอย่างยิ่ง
- เจ้าพระยาไวโอเล็ต แวนด้าใบร่อง ที่มีดอกสีม่วงเข้ม สวยเป็นเอกลักษณ์ และลักษณะของใบที่จะเรียงกันสวย ทำให้ลำต้นของสายพันธุ์นี้มีขนาดสูงขึ้นเรื่อย ๆ เหมาะกับทั้งปลูกแบบห้อยในกระถาง หรือตั้งวางไม้กับพื้นก็ได้เช่นกัน ที่สำคัญสายพันธุ์นี้มีกลิ่นที่หอมอีกด้วย
- Vanda Emma van Deventer แวนด้าก้างปลา (ลูกผสม) เนื่องจากแวนด้าก้างปลาเป็นสายพันธุ์ที่หาได้ในธรรมชาติค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมป่า (natural hybrid) ขึ้นมา โดยการนำแวนด้าก้างปลา และใบแบนมาผสมกันทำให้ได้สายพันธุ์นี้ขึ้นมา