เอื้องสาย (Dendrobium spp) เลี้ยงง่าย ตายยาก ออกดอกสวย

เอื้องสาย

เอื้องสาย มีหลายสิบชนิด อยู่ในสกุลหวาย (Dendrobium spp) เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย ตายยาก ออกดอกสวย ทนร้อน และ ขยายพันธุ์ได้ดี เลี้ยงเกาะกับต้นไม้ที่เปลือกขรุขระ เช่น ต้นมะขาม ต้นกาสะลอง ต้นจามจุรี มันจะชอบมากเป็นพิเศษ กว่าเลี้ยงด้วยเครื่องปลูกอื่น ๆ แต่เพื่อความสะดวกเราชาวกล้วยไม้ มักจะเอาเอื้องสายมาเกาะกับไม้เนื้อแข็ง ก็จะพอจะทดแทนกันได้ ที่นิยมกันมาก เอื้องสายหลวง เอื้องสายนกกระจิบ เอื้องครั่งสั้น เอื้องสายม่วง หรือ เอื้องอินทกริต วันนี้เราจะมาแนะนำ เอื้องสายหลวง และ เอื้องสายม่วง เอื้องยอดนิยมทั้ง 2 ชนิด มาให้ทุกท่านได้รู้จักกัน จะมีลักษณะอย่างไรกันบ้างนั้น ติดตามกันได้เลย

เอื้องสายหลวง (Dendrobium anosmum)

เอื้องสายหลวง Den. anosmum เป็นกล้วยไม้สกุลหวายอีก ชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามโดดเด่นไปจากสกุลหวายชนิดอื่น ๆ เนื่องจาก สายหลวง เป็นหวายที่มีลำต้นเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมี ขนาดใหญ่โต ความยาวของลำลูกกล้วยสามารถยาวได้มากกว่า 2 เมตร เมื่อถึงฤดูกาลให้ดอก สายหลวง จะให้ดอกพลั่งพลูตลอด ลำเป็นที่ตรึงตาตรึงใจของนักเลี้ยงหลาย ๆ คน และ ด้วยรูปร่างที่ ใหญ่มหึมาของกล้วยไม้สกุลหวายชนิดนี้นี่เอง มันจึงได้รับชื่อสม ยานามว่า สายหลวง นั่นเอง ในบรรดาเอื้องสาย สายหลวง นับเป็นเอื้องสายที่มีลักษณะของดอก หลากหลายที่อาจจะแตกต่างกันมากกว่า 10 รูปแบบ ในภาคเหนือเราอาจจะพบกับ สายหลวง ที่มีดอกกลมโต สีชมพูหวานสวยมีตากลมใหญ่เต็มปาก หรือ อาจจะพบกับ สายหลวง ที่มีปากบานใหญ่ กลีบดอกเล็กในแถบเขาขุนตาน ละที่ดูเหมือนจะแปลกที่สุด คงจะเป็น สายหลวง ของภาคใต้บ้านเรา มันมีลักษณะดอกที่พิลึกกึกกือ เมื่อสังเกตที่ ผิวปากของเจ้า สายหลวง ชนิดนี้ เราจะพบว่ามันมีขนหยุบหยับเต็มไปหมด เมื่อเทียบกับ สายหลวง ปกติ ลำของมันเล็ก เรียว ไม่ต่างอะไรไปจากเอื้องสายอื่น ๆ รูปร่างของลำต้นเล็กเพรียว ให้ดอกเพียงกระจุ๋มกระจิ๋มเพียงเล็กน้อยพอหอมปาก หอมคอตรงบริเวณปลายลำเท่านั้น ขนาดของดอกนั้นเล็กกว่า สายหลวง ภาคเหนือ แต่ลักษณะสีสัน ยังคงชมพูหวาน คงเอกลักษณ์ของ เอื้อง สายหลวง อยู่นั่นเอง

เอื้องสายม่วง หรือ เอื้องสายครั่งยาว

เอื้องสายม่วง บางท่านเรียกกันว่า สายครั่งยาว มีแหล่งกระจายพันธุ์ใน ไทย พม่า ลาว และ อินเดีย ขึ้นอยู่บนความสูงที่ระดับ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ในประเทศไทยมีบันทึกไว้ว่าพบ สายม่วง ในภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบริเวณป่าดิบ และ ป่าสนเขา สำหรับสีสันของ สายม่วง นั้น มีทั้งสีม่วงเข้มไปจนถึงม่วงอ่อน ๆ บางครั้งเรามักพบ สายม่วง ที่มีปากเป็นสีเหลือง หรือ ดำ แทนที่จะเป็นสีม่วงเข้มแทน เช่นเดียวกับเอื้องสายชนิดอื่น ๆ สายม่วง จะผลัดใบทิ้งเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว และ พักตัวอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงฤดูร้อน ราว ๆ ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน ถึงจะมีดอกให้ชม นับว่าใช้เวลาพักตัวอยู่นานถึง 2 – 4 เดือนเลยทีเดียว ปัจจัยการทิ้งใบของ สายม่วง นั้น ยังพบด้วยว่าความชื้น และ การให้น้ำมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับสายอื่น ๆ หากเราให้น้ำมาก อัตราการทิ้งใบจะช้ากว่ากำหนด และ หากไม่ให้ หรือ ปล่อยแห้งเพียงวันถึงสองวัน ไม้สายจะทิ้งใบลงอย่างรวดเร็ว จนน่าตกใจ แต่นั่นก็เป็นข้อดี คือ เราก็จะได้เห็นดอกเร็วขึ้น นั่นเอง

การปลูกเลี้ยง เอื้องสาย

การปลูกเลี้ยง เอื้องสาย ก็เหมือนกับการปลูกเลี้ยง และ ดูแลกล้วยไม้สกุลหวายทั่วไป เนื่องจาก เอื้องสายนั้น เป็นกล้วยไม้ที่ชอบร้อน เลี้ยงง่ายมาก ๆ ที่สำคัญคือ ทนทาน ตายยากมาก เมื่อได้รับ เอื้องสายไม่ว่าชนิดใด เข้ามาเลี้ยงดูแล้ว ก่อนอื่นให้ตัดรากแห้ง และ ลำแห้งทิ้งออกเสียให้หมดก่อนเป็นอันดับแรก แล้วทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

– นำ เอื้องสาย มามัดติดกับขอนไม้ที่เหมาะสม โดยจัดลำให้ห้อยตัวลง หลีกเลี่ยงการมัดติดโดยให้หัวดิ่งลงพื้นตรง ๆ เพราะการจับหัวดิ่งลงเลย กล้วยไม้ทรงจะไม่สวยแล้วยังทำให้โตช้า หากเปรียบเป็นเข็มนาฬิกา แนะนำให้ติดตรง 9 นาฬิกา หรือ 3 นาฬิกา ของขอนไม้ ไม่แนะนำ 6 นาฬิกาครับ เพราะ 6 นาฬิกาจะเป็นการทรมานกล้วยไม้เกินไป อารมณ์เหมือนเราถูกจับห้อยหัวโดยมัดเท้าไว้

– หาเป็นกระเช้าสี่เหลี่ยม ให้นำวัสดุปลูกเช่น กาบมะพร้าว มารองระหว่าง เอื้องสาย กับกระเช้าก่อน เพื่อให้ได้รับความชื้นที่พอเพียง เสร็จแล้วมัดให้แน่น แล้วแขวนกระเช้าโดยใช้ลวดเพียงสองขาก็เพียงพอ เพื่อให้ลำของ เอื้องสาย ได้ดิ่งตัวลงมานั่นเอง

– รดน้ำวันละ 1 ครั้ง เช้า หรือ เย็น ระยะแรกให้แขวน เอื้องสายไว้ในร่มรำไร พ้นแสงแดดจัด เมื่อกล้วยไม้รากเดินดีแล้วจึงค่อย ๆ ขยับเข้าหาแสงแดดที่มากขึ้นเพื่อให้กล้วยไม้ได้ปรุงอาหารอย่างเต็มที่ เพื่อใช้ ในการผลิดอกในครั้งต่อ ๆ ไปนั่นเอง

เอื้องสาย กล้วยไม้สกุลหวาย ที่พูดได้เต็มปาก เต็มคำเลยว่า เป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายที่สุดก็ว่าได้ ทนแดด ตายยาก ออกดอกสวย ขยายพันธุ์ได้ดี เพราะ เอื้องสายเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มกล้วยไม้ สกุลหวาย (Dendrobuim) เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยที่พบเห็นได้ทุกภาคของเมืองไทย โดยเฉพาะภาคเหนือนั่นเอง ด้วยลักษณะนิสัยที่แตกกอง่าย และ ทำให้ลำลูกกล้วยที่เรียวยาว เป็นแนวดิ่งลงสู่พื้นดินนั้น เมื่อถึงเวลาให้ดอก เอื้องสายเหล่านี้ มักจะออกดอกพรั่งพรูตั้งแต่โคน ไปจนถึงปลายสุด ทำให้เอื้องสาย ยามให้ดอกนั้นสวยงามเป็นอย่างมาก มองดูราวผืนผ้าม่านขนาดใหญ่ปกคลุมบนยอดไม้สูง สง่า งดงาม อย่างที่หาที่เปรียบไม่ได้นั่นเอง

Facebook
Twitter
LinkedIn