เอื้องสายหลวง dendrobium anosmum เป็นกล้วยไม้สกุลหวายอีก ชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามโดดเด่นไปจากสกุลหวายชนิดอื่น ๆ เนื่องจาก สายหลวง เป็นหวายที่มีลำต้นเมื่อโตเต็มที่แล้วจะมี ขนาดใหญ่โต ความยาวของลำลูกกล้วยสามารถยาวได้มากกว่า 2 เมตร เมื่อถึงฤดูกาลให้ดอก สายหลวง จะให้ดอกพรั่งพรูตลอด ลำเป็นที่ตรึงตาตรึงใจของนักเลี้ยงหลาย ๆ คน และ ด้วยรูปร่างที่ ใหญ่มหึมาของกล้วยไม้สกุลหวายชนิดนี้นี่เอง มันจึงได้รับชื่อ สมญานามว่า สายหลวง นั่นเอง ในบรรดาเอื้องสาย สายหลวง นับเป็นเอื้องสายที่มีลักษณะของดอก หลากหลายที่อาจจะแตกต่างกันมากกว่า 10 รูปแบบ ในภาคเหนือเราอาจจะพบกับ สายหลวง ที่มีดอกกลมโต สีชมพูหวานสวยมีตากลมใหญ่เต็มปาก หรือ อาจจะพบกับ สายหลวง ที่มีปากบานใหญ่ กลีบดอกเล็กในแถบเขาขุนตาน และ ที่ดูเหมือนจะแปลกที่สุด คงจะเป็น สายหลวง ของภาคใต้บ้านเรา มันมีลักษณะดอกที่พิลึกกึกกือ เมื่อสังเกตที่ ผิวปากของเจ้า สายหลวง ชนิดนี้ เราจะพบว่ามันมีขนหยุบหยับเต็มไปหมด เมื่อเทียบกับ สายหลวง ปกติ ลำของมันเล็ก เรียว ไม่ต่างอะไรไปจากเอื้องสายอื่น ๆ รูปร่างของลำต้นเล็กเพรียว ให้ดอกเพียงกระจุ๋มกระจิ๋มเพียงเล็กน้อยพอหอมปาก หอมคอตรงบริเวณปลายลำเท่านั้น ขนาดของดอกนั้นเล็กกว่า สายหลวง ภาคเหนือ แต่ลักษณะสีสัน ยังคงชมพูหวาน คงเอกลักษณ์ของ เอื้อง สายหลวง อยู่นั่นเอง
ทำความรู้จัก เอื้องสายหลวง dendrobium anosmum ทั้ง 3 ประเภท
– เอื้องสายหลวงไทย ลักษณะจะคล้ายคลึงกับ เอื้องสายหลวงลาว เป็นอย่างมาก แต่จะมีอีกประเภทหนึ่งที่ดูได้ง่ายคือต้นที่มีลักษณะตาดอกแดงก่ำแบบต้นในภาพ เอื้องสายหลวงไทยโดยทั่วไป จะพบว่า ลักษณะ จะงอยปากของดอกกล้วยไม้นั้น จะมีลักษณะแหลมเรียวคล้ายกับช้อนที่มีปลายแหลม ในขณะที่ของลาว จะงอยปากจะบานกว้างออก ลำลูกกล้วยของ เอื้องสายหลวงไทย จะมีลักษณะแข็งค่อนข้างเป็นตรง ไม่หักงอ โค้งซิกแซกไปมาเหมือน เอื้องสายหลวงลาว แต่บางครั้งเราก็พบว่า เอื้องสายหลวงลาว ลำตรง ๆ ก็มีเช่นกัน
– เอื้องสายหลวงลาว ลักษณะของปากดอกจะบานกว้างออก คล้ายกับทัพพี ปากของเค้าจะบาน ๆ ตาสีเข้มกลมโต และ กลีบดอกผายผึ่งกว่าสายหลวงไทย ลำของเอื้องสายหลวงลาวที่มาจากปาก สังเกตได้ว่า จะมีลักษณะลำหักงอ เป็นเส้นซิกแซก สลับซ้ายขวาคล้ายกับฟันปลา แต่ก็ไม่เสมอไป บางต้นที่มาจากป่าสมบูรณ์ลำต้นก็จะอวบใหญ่ กลม และ ตรง คล้ายกับของไทยก็มี
– เอื้องสายหลวงใต้ เป็น สายหลวง ที่มีลักษณะแปลกสุดในบ้านเรา ลักษณะปากของเอื้องหลวงสายใต้ จะมีขนปกคลุมอยู่ และ ปากจะห่อเป็นกรวย ไม่คลี่บานออกเหมือน เอื้องสายหลวงลาว และ เอื้องสายหลวงไทย ลำต้นจะมีลักษณะเล็กเรียวไม่อวบอ้วน แตกตะเกียงง่าย นอกจากนี้ เอื้องสายหลวงใต้ยังพบว่ามีลักษณะของดอก 2 แบบ ดั่งเช่นภาพด้านบน ด้านซ้ายสุดคือ แบบที่มีลักษณะดอกพื้นขาว และ ปากม่วง และ แบบถัดมาที่พบได้ทั่วไปตามท้องตลาดคือปากห่อมีขน
นอกเหนือจาก สายหลวง ที่มีลักษณะสีสันทั่วไปแล้ว เรายังพบว่ามี สายหลวง ที่มีลักษณะของดอกพิเศษอีก 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีสีขาวล้วน หรือ ที่เราเรียกกันว่า เอื้องสายหลวงเผือก และ ชนิดที่มีตาสีแดง หรือ ม่วง และ มีกลีบดอกเป็นสีขาวล้วน เราเรียกชนิดหลังนี้ว่า เซมิอัลบา หมายถึง ลักษณะ ของกึ่งเผือก ซึ่งเป็นลักษณะที่หาได้ยากที่สุด และ มีราคามากที่สุดก็ว่าได้
การปลูกเลี้ยง เอื้องสายหลวง dendrobium anosmum กรณีไม้ขวด
การปลูกเลี้ยง เอื้องสายหลวง dendrobium anosmum สายหลวง เป็นหวายที่เลี้ยงไม่ยาก เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่ทนสภาพอากาศร้อนได้ และ ให้ดอกในพื้นที่ราบได้เมื่อถึง ฤดูกาล การดูแลเจ้า สายหลวง จึงไม่ยุ่งยากนัก โดยปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้
กรณีไม้ออกขวด
– ให้นำลูกไม้ออกขวดนั้น ปลูกลงในสเฟกนั่มมอส หรือ วัสดุที่มีสะสมความชื้นได้ทันที เนื่องจากรากของกล้วยไม้สกุลหวาย จะแห้งได้โดยง่าย หากนำผึ่งในตะกร้าโดยไม่มีเครื่องปลูก จะแห้งตายในที่สุด
– หลังจากนี้ให้ดูแลควบคุมความชื้นให้ดี อย่าให้แฉะจนเกินไป ให้ลูกไม้อยู่บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับ
– ฉีดพ่นปุ๋ยอ่อน ๆ ได้ใช้สูตรเสมอ สลับกับสูตรตัวหน้าสูง เช่น 21 – 21 – 21 สลับกับ 30 – 20 – 10
– หลังจากผ่านไป 8 – 9 เดือน ลูกไม้จะโตขึ้นมาก และ เริ่มทิ้งใบ อย่าตกใจ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูพักตัวก่อนให้ดอก เมื่อพ้นปีแล้ว ลูกไม้ที่ทิ้งใบนี้จะแทงหน่อใหม่ หากกินอิ่มหนำสำราญดี หน่อใหม่จะโตกว่าเดิมหลายเท่าตัว และ พร้อมให้ดอกในปีถัดไป
* ในฤดูฝน พึงระวัง หากฝนตกทุกวัน ลูกไม้อาจจะเน่าตายได้ ให้พ่นยากันราอย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์ / ครั้ง
การปลูกเลี้ยง เอื้องสายหลวง dendrobium anosmum กรณีไม้ที่ได้มาเป็นต้นโตแล้ว
การปลูกเลี้ยง เอื้องสายหลวง dendrobium anosmum กรณีไม้ที่ได้มาเป็นต้นโตแล้ว มีวิธีการดังนี้
– ให้นำ สายหลวง ปลูกติดขอนไม้ หรือ กระเช้าก็ได้ หากปลูกติดขอนให้ห้อยหัว สายหลวง ลง การปลูกติดขอนไม้ต้อง มีกาบมะพร้าวที่แช่น้ำมาแล้วอย่างน้อย 2 คืน มาแปะรองระหว่างรากกับขอนไม้ และมัดให้แน่น ความชื้นจากกาบ มะพร้าวจะช่วยให้รากใหม่แตกเร็วขึ้น และ โตเร็วกว่านำ สายหลวง แปะลงบนขอนไม้เปล่า ๆ
– หากลงกระเช้า ให้จับลำต้นขึ้น ใช้ฟิว หรือ เชือกฟาง บรรจงมัดลำที่ตั้งขึ้น ให้ยึดกับลวดแขวน เครื่องปลูกเป็นมะพร้าวสับ ที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้วอย่างน้อย 2 คืน จะช่วยให้รากแตกตาใหม่เร็วขึ้น
* บางครั้งก็มักได้ยินเรื่อง ฮอร์โมนเร่งราก ซึ่งก็ได้ผลดีครับ แต่หากน้ำดีปุ๋ยถึงละก็ ไม่จำเป็นเลยเพราะในปุ๋ยที่เราใช้นั้น มีการผสมฮอร์โมนตัวนี้ลงไปเรียบร้อยแล้ว
เอื้องสายหลวง dendrobium anosmum เป็นกล้วยอิงอาศัย ลำต้นคล้ายรูปแท่งดินสอกลมห้อยลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตามข้อลำต้น ใบเป็นรูปไข่แกม รูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบหุ้มลำต้น เนื้อใบหนาผิวใบเรียบ และ เป็นมันทั้ง 2 ด้าน เวลาถึงฤดูผลิดอก จะทิ้งใบหมด คงเหลือเพียงดอกเพียงอย่างเดียว ดอก ออกเดี่ยว ๆ หรือ เป็นช่อแขนงสั้น ๆ เหมือนกล้วยไม้สกุลเอื้องสายทั่วไป ปลายกลีบปากบิด และ มีขนละเอียดนุ่มมือ กลีบปากเป็นสีม่วงเข้ม บริเวณปลายกลีบมีแต้มสีขาวขลิบ ทำให้ดูงดงามสง่าน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แบบเฉพาะตัวอีกด้วย จึงมีเสน่ห์ลึกซึ้งมากขึ้น ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 6 – 7 ซม. ดอกออกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี