เพลี้ยไฟ กล้วยไม้ (Thrips palmi Karny) หรือ ตัวกินสี

เพลี้ยไฟ กล้วยไม้

เพลี้ยไฟ กล้วยไม้ หรือ ตัวกินสี แมลงศัตรูกล้วยไม้ชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก ราว ๆ 0.5 มิลลิเมตร หากมองตาเปล่าเราจะเห็นว่าเพลี้ยไฟมีสีน้ำตาลเข้ม เล็กเรียว และ เร็ว เพลี้ยไฟ มักเข้าทำลายกล้วยไม้ในช่วงฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน บางครั้งเราอาจพบมันทุกฤดูกาลเลยก็ได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากเจอะเจอมันซักเท่าไหร่ สิ่งที่ แมลงกินสี ชนิดนี้ชำนาญที่สุดนั่นก็คือ การเข้าทำลายดอกของกล้วยไม้ แน่นอนมันทำงานกันเป็นครอบครัว เพลี้ยไฟ จะวางไข่บริเวณใบของกล้วยไม้ และ เติบโตเป็นอาชญากรตั้งแต่วัยกระเตาะ ไม่จำเป็นต้องมีผู้สอน มันสามารถดูดน้ำเลี้ยงกล้วยไม้ได้ทันทีที่มันลืมตาดูโลก สิ่งที่เหล่าตัวอ่อนของ เพลี้ยไฟ ไม่มีอย่างตัวเต็มวัยนั่นก็คือปีก เมื่อมันเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันจะเริ่มกางปีก และ บินจู่โจมช่อดอกกล้วยไม้รายต่อไป ซึ่งอาหารโปรดอันโอชะของมันคือ แวนด้า หวาย และ กล้วยไม้วัยอนุบาล

รูปร่างลักษณะของ เพลี้ยไฟ กล้วยไม้ (Thrips palmi Karny)

เพลี้ยไฟ กล้วยไม้ เป็นแมลงปากดูดมีขนาดเล็กมากลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รูปร่างเรียว แคบยาว ตัวอ่อน และ ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ลำตัวสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาลอ่อน ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาล หรือ สีน้ำตาลดำ มีทั้งชนิดปีก และ ไม่มีปีก ชนิดที่มีปีกจะมีปีก 2 คู่ลักษณะคล้ายขนนก ทั้งตัวอ่อน และ ตัวเต็มวัยเคลื่อนไหวได้รวดเร็วมาก เมื่อถูกรบกวนมักจะวิ่งหลบหนีซ่อนตัว หรือ กระโดดบินหนีไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็นตัว

ลักษณะการทำลาย ของเพลี้ยไฟ กล้วยไม้ (Thrips palmi Karny)

เพลี้ยไฟ กล้วยไม้ เพลี้ยไฟเป็นศัตรูตัวสำคัญของกล้วยไม้ โดยเฉพาะวงการกล้วยไม้ตัดดอก จัดเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก โดยตัวเต็มวัยจะวางไข่ไว้ในเนื้อเยื่อโดยเฉพาะดอกกล้วยไม้ เมื่อเกิดเป็นตัวอ่อนก็จะเริ่มทำลายดอก หรือ ส่วนอื่นที่วางไข่ไว้ ตัวอ่อนจะชอบอยู่ตามซอกกลีบดอกที่ซ้อนทับกัน ระบาดหนักช่วงอากาศร้อนแห้งแล้ง สังเกตอาการด่างตามขอบกลีบดอก เนื่องจากถูกตัวอ่อนดูด เพลี้ยไฟเข้าทำลายที่ช่อดอกอ่อน ดอกอ่อนจะถูกดูกินน้ำเลี้ยงจนทำให้ดอกแห้งฝ่อ พบระบาดมากในกล้วยไม้ประเภทหวาย แอสโค และ กล้วยไม้ช้าง

วิธีป้องกัน และ กำจัดเพลี้ยไฟ กล้วยไม้ (Thrips palmi Karny)

เพลี้ยไฟ กล้วยไม้ มีวิธีป้องกัน และ กำจัด ดังนี้

  1. ควรหมั่นตรวจดูกล้วยไม้ในโรงเรือน และ เมื่อได้กล้วยไม้ที่จัดหามาใหม่ ควรแยกไว้เพื่อตรวจดูเพลี้ยไฟ ที่อาจติด มากับต้นกล้วยไม้ จนแน่ใจว่าปลอดจาก เพลี้ยไฟ หรือศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ จึงค่อยนำเข้าไปแขวนรวมในโรงเรือน
  2. เมื่อตรวจพบให้แยกกล้วยไม้ที่มี เพลี้ยไฟ ทำลายออกมาอย่าปล่อยให้อยู่ปะปนกับกล้วยไม้อื่น ๆ บางต้นที่ถูก ทำลายจนทรุดโทรมมากควรเผาทำลายเสีย เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของ เพลี้ยไฟ ถ้าต้นกล้วยไม้มีอาการไม่มาก ก็สามารถใช้สารเคมี รักษาได้
  3. การใช้สารฆ่าแมลงในการป้องกันกำจัด โดยการฉีดพ่น สามารถกระทำได้อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้สารเคมีชนิดดูด ซึม เช่นสารในกลุ่มเมทโธมิล หรือ คาร์บาริล หรือกลุ่มสาร คาร์บาเมท (คาร์โบซัลเฟน) ซึ่งมีชื่อทางการค้าต่างๆกัน อัตราการ ใช้ควรใช้ตามคำแนะนำข้างฉลากขวด ระวังอย่าให้ละอองถูกตัวผู้ฉีด ควรฉีดพ่น 1 – 2 อาทิตย์ ต่อครั้ง เพื่อ เป็นการป้องกัน หรือ เมื่อมีการระบาดของ เพลี้ยไฟ หรือฉีดป้องกันในขณะที่กล้วยไม้แทงช่อดอก นอกจากนี้ควรรักษา พื้นโรงเรือนให้สะอาด ไม่มีวัชพืช หรือ พืชที่ปลูกใต้พื้นเรือนโรง และ ควรพ่นย่าแมลงที่พื้นดินในโรงเรือนด้วย เพราะ เนื่องจากตัวอ่อนเพลี้ยไฟมัก ฝักตัว และ เข้าดักแด้ในดิน

ร่องรอยของ เพลี้ยไฟ กล้วยไม้ หลังจากก่อการร้าย เรามักจะพบช่อดอกของกล้วยไม้ แห้ง ซึ่งเป็นผลจากการที่เพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงที่ดอกของกล้วยไม้อย่างรุนแรง หรือ เป็นร่องรอยสีขาวขยุกขยิก สีของกล้วยไม้ซีดจางลง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ เพลี้ยไฟ ได้ชื่ออีกอย่างว่า แมลงกินสี หรือ ตัวกินสีนั่นเอง ในกรณีที่ เพลี้ยไฟ เข้าทำร้ายต้นอ่อนของกล้วยไม้นั้น มันจะเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงของต้นอ่อนบริเวณโคนใบ และ หากเพลี้ยไฟ พร้อมใจสามัคคีกัน มันจะรุมกันดูดน้ำเลี้ยงต้นอ่อนอย่างโหดร้ายทารุนจนกระทั่งใบเป็นสีน้ำตาลอมแดง แล ดูคล้ายไฟ มันจึงได้รับฉายาว่า เพลี้ยไฟ

Facebook
Twitter
LinkedIn