กล้วยไม้ สกุลเข็ม มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว เช่นเดียวกับ กล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนดา สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น การเรียงตัวของใบเป็นแบบซ้อนทับกัน รูปร่างของใบแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่งใบแบน ใบค่อนข้างจะอวบน้ำ และ แบบที่สองเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ รากเป็นระบบรากอากาศ ช่อดอกจะออกที่ตาตามข้อของลำต้นระหว่างใบต่อใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกหลายดอก ดอกมีขนาดเล็ก ดอกหันหน้าออกรอบด้าน กลีบนอกและกลีบในของดอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ปากขยับไม่ได้ ใต้ปากมีเดือยเป็นถุงยาว เดือยมีขนาดสั้นกว่ารังไข่และก้านดอก เส้าเกสรอ้วนสั้นไม่มีฐาน กลุ่มเรณูกลมมี 2 ก้อน กล้วยไม้สกุลเข็ม ทุกชนิดดอกมีรูปร่างคล้ายกันแต่แตกต่างกันในเรื่องสี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีสดใส เช่น สีแดงอมส้ม สีม่วง สีส้ม หรือสีเหลืองอมส้ม เมื่อต้นกล้วยไม้มีอายุมากขึ้น หรือเมื่อยอดหักหรือยอดเน่าตาที่อยู่ด้านล่าง ๆ ของลำต้นจะแตกหน่อออกมา ทำให้เกิดมีหลาย ๆ ยอดได้ด้วยลักษณะและสีสันที่สดใสของดอกดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม เป็นราชินีของกล้วยไม้ประเภทแวนดาแบบกระเป๋า
เขตกระจายพันธุ์ กล้วยไม้สกุลเข็ม
สกุลเข็ม จากการสำรวจพบว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม ที่มีอยู่ในโลกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคพื้นทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีน พม่า ไทย ประเทศในแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เมื่อได้พิจารณาทางหลักภูมิศาสตร์ของอาณาบริเวณที่ปรากฏกล้วยไม้เหล่านั้นตามธรรมชาติแล้ว ก็น่าจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของแหล่งกำเนิด กล้วยไม้สกุลเข็ม สำหรับในประเทศไทยนั้นปรากฏว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทุกภาคบางภาคอาจมี กล้วยไม้สกุลเข็ม หลายชนิด แต่บางภาคอาจมีเพียงชนิดเดียว ในประเทศไทยเราพบว่ามี กล้วยไม้สกุลเข็ม ปรากฏตามธรรมชาติอยู่ 4 ชนิด คือ เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) และ แอสโคเซ็นตรัม เซมิเทอเรตติโฟเลียม (Ascocentrum semiteretifolium – ยังไม่มีชื่อภาษาไทย)
ลักษณะเฉพาะของกล้วยไม้ สกุลเข็ม แต่ละชนิด
สกุลเข็ม ลักษณะเฉพาะของแต่ละชนิด
เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) ถิ่นกำเนิดของเข็มแดงในประเทศไทย คือบริเวณเริ่มตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ต่ำลงไปถึงจังหวัดตาก และ กาญจนบุรี พบในป่าที่มีระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในฤดูฝนความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง แต่ในฤดูแล้วความชื้นในอากาศอาจจะลดลงเหลือเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในต่างประเทศพบว่าเข็มแดงมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย ผ่านมาทางประเทศพม่าจนถึงประเทศไทย ลำต้นของเข็มแดงเมื่อสูงถึงประมาณ 20 เซนติเมตร มักจะพบว่าโค้งลงเพราะทรงตัวไม่ได้ และ จะมีหน่อเกิดขึ้นทางส่วนล่าง ๆ ของลำต้น ใบค่อนข้างแคบ โค้ง เรียว และ ยาวที่สุดในบรรดา กล้วยไม้สกุลเข็ม ทุกชนิดที่พบในประเทศไทยด้วยกัน ความยาวของใบประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ค่อนข้างจะอวบน้ำ ใบเป็นสีเขียวอ่อน อ่อนกว่าสีของใบเข็มม่วง และ เข็มแสดในระหว่างฤดูแล้วขอบของใบจะปรากฏเป็นจุดสีม่วงขึ้นประปราย และ เมื่อความแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้นจุดสีม่วงบนใบก็จะมีหนาแน่นยิ่งขึ้น ฤดูออกดอกอยู่ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นที่กำลังให้ดอกอาจมีดอก 3-4 ช่อในเวลาเดียวกัน ต้นที่โต ๆ จะให้จำนวนช่อดอกมากขึ้น ช่อดอกตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร หรือกว่านั้น กลีบดอกบานเปิดเต็มที่ดอกมีสีแดงอมสีส้มสดใส บานทนนับเป็นสัปดาห์
เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มม่วงปรากฏตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และ ต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี พบอยู่ในบริเวณเดียวกันกับเข็มแดง แต่อยู่ในระดับความสูงมากกว่าเข็มแดง ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีน และ ลาว ตเข็มม่วงมีทรงต้นตั้งแข็งอาจมีความสูงได้ถึง 25 เซนติเมตร ใบเป็นประเภทใบแบน ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบค่อนข้างแข็ง ไม่โค้งมากนัก ปลายใบตัด และ เป็นฟันแหลม ๆ ไม่เท่ากันหลายฟัน ใบมีสีเขียวคล้ำ ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งจะปรากฏจุดสีม่วงเล็ก ๆ บนใบโดยทั่วไป โดยเฉพาะใบที่อยู่ใกล้ ๆ ยอด ยิ่งแห้งแล้งมากจุดสีม่วงจะยิ่งเด่นชัดขึ้น ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นช่อตั้งรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่อ ประมาณช่อละ 30 ดอก ก้านช่อค่อนข้างสั้น
เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) เข็มแสดเป็น กล้วยไม้สกุลเข็ม ที่พบว่ามีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติไปทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ทางภาคเหนือพบที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่จังหวัดนครราชสีมา เลย อุดรธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร ต่ำลงไปทางภาคกลางพบที่จังหวัดจันทบุรี ทางภาคใต้พบที่จังหวัดพังงา และ สตูล ในลักษณะภูมิประเทศทั้งที่ราบ และ ที่เป็นภูเขา เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติกว้างขวาง จึงสามารถปลูกเลี้ยงให้เจริญงอกงาม และ ออกดอกได้สม่ำเสมอตามฤดูกาลในทุกภาคของไทย ลำต้นของเข็มแสดสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นที่เจริญเติบโตมาก ๆ อาจสูงถึง 30 เซนติเมตร และ มีหน่อที่โคนต้นหลายหน่อ ใบยาวประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.0 – 1.5 เซนติเมตร โค้งเล็กน้อย ใบซ้อนชิดกันใบมีสีเขียวแก่ มีลักษณะหนา อวบน้ำ ปลายใบหยักเป็นฟันแหลม ๆ เล็กน้อยอาจจะมีจุดสีม่วงคล้ำบนแผนใบ และ ขอบใบเมื่อกระทบสภาพแห้งแล้งเช่นเดียวกับเข็มแดง และ เข็มม่วง ช่อดอกเป็นแบบช่อตั้ง ยาวประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ประมาณช่อละกว่า 50 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาวเรียวมีความยาวประมาณ 1.0 เซนติเมตร กลีบนอก และ กลีบในของดอกมีขนาดประมาณ 3 x 6 มิลลิเมตร ปากกระเป๋า และ เดือยยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร กลีบดอกค่อนข้างหนา ผิวเนื้อกลีบ (Texture) เป็นมันมีสีส้มสดใส หรือสีเหลืองส้มสะดุดตามาก ฤดูออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และ มีนาคม ดอกบานทนไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์
เข็มชมพู (Ascocentrum semiteretifolium) เข็มชมพู เป็นกล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดเดียมที่มีใบเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในระดับความสูง 1,800 – 1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกสีม่วงอ่อนเนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะของต้น และ สีของดอกไม่เป็นที่สนใจของบรรดานักกล้วยไม้ทั่ว ๆ ไป ประกอบกับเป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างจะหายาก ทำให้ไม่มีผู้นิยมปลูกเลี้ยงกันมากนัก
กล้วยไม้ลูกผสมของ สกุลเข็ม
กล้วยไม้ลูกผสมของ สกุลเข็ม กล้วยไม้สกุลเข็ม นอกจากดอกจะมีสีสันสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในประเภทแวนดาด้วยกันแล้ว ยังมีช่อดอกเข็มชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่ออย่างเป็นระเบียบ ตามปกติในต้นเดียวกันจะให้ดอกพร้อมกันหลาย ๆ ช่อ เป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย นักผสมพันธุ์กล้วยไม้จึงจัดการผสม กล้วยไม้สกุลเข็ม ข้ามสกุลกับกล้วยไม้ในประเภทแวนดา เช่น กล้วยไม้สกุลแวนดา สกุลช้าง สกุลรีแนนเธอราผลปรากฏว่าได้ลูกผสมที่มีสีสันสวยงามผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป ออกดอกยิ่งขึ้น ดอกบานทนยิ่งขึ้น มีดอกตลอดทั้งปีไม่เป็นฤดูกาล และ ปลูกเลี้ยงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอสโคเซ็นดา ซึ่งมีสายเลือดของสกุลเข็ม
- กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอสโคเซ็นดา (Ascocenda)
- กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลช้าง เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลรินโคเซ็นตรัม (Rhynchocentrum)
- กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลรีแนนเธอรา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอริโดเซ็นตรัม (Anridocentrum) เป็นต้น
- กล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดาที่ปลูกเลี้ยงกันแพร่หลายมากก็เป็นลูกผสมระหว่างเข็มแดงกับกล้วยไม้สกุลแวนดาประเภทใบแบนเป็นส่วนใหญ่ เช่น กล้วยไม้แอสโคเซ็นดา มีดา อาร์โนลด์ (Ascocenda Meda Arnold) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างกล้วยไม้แวนดา รอธไชล์เดียนา (Vanda Rothschildiana) กับเข็มแดง แต่ละต้นให้ดอกที่มีสีสันแตกต่างกัน ตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีน้ำเงิน และ กล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้ได้มีการผสมกลับไปกลับมาอีกหลายระดับ ระหว่างกล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดากับเข็มแดง หรือระหว่างกล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดากับกล้วยไม้สกุลแวนดาต้นเดิม หรือ ต้นอื่น ทั้งนี้เพื่อให้สีของดอกสดใสยิ่งขึ้น หรือ ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่อดอกยาวขึ้น หรือ มีลักษณะแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างอื่นมากขึ้นอีก
สรุปลักษณะกล้วยไม้ สกุลเข็ม (Ascocentrum) ไว้ดังนี้คือ
- มีขนาดเล็ก ทั้งขนาดของต้น ช่อดอก และ ดอก
- มีสีสดสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ
- เป็นประเภทไม่แตกกอ
- ดอกมีสีสะดุดตา ช่อดอกตั้งตรง ช่อดอกหนึ่งมีดอกหลายดอก และ ดอกติดอยู่โดยรอบเป็นรูปทรงกระบอก กลีบดอกชั้นนอก และ ชั้นในมีรูปร่างคล้ายกัน ปากติดอยู่ที่ส่วนโคนของเส้าเกสร หูกระเป๋ามีขนาดเล็ก และ ตั้ง และ มีปลายแหลม หรือ มน แผ่นปากยาวกว่าหู ปลายปากมนเป็นรูปคล้ายลิ้น ชี้ไปข้างหน้า หรือ ชี้ลงล่าง ปากมีเดือยเป็นถุงยาว โคนเดือยคอดปลายขยายใหญ่ แต่ความยาวของเดือยสั้นกว่าความยาวของก้านดอก เส้าเกสรไม่มีฐาน
- มีบทบาทในการผสมพันธุ์ และ เป็นที่นิยมมาก เพราะลูกผสมที่ได้จะออกดอกง่าย ออกดอกตลอดปี เลี้ยงง่ายโตเร็ว ให้สีสดใสสะดุดตา สามารถผสมกับกล้วยไม้สกุลต่าง ๆ ได้หลายสกุล
- กระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ พบอยู่ในป่าธรรมชาติเพียง 5 – 6 ชนิดเท่านั้น แต่ที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ เข็มแดง เข็มแสด และ เข็มม่วง