สกุลหวาย เดนโดรเบียม (Dendrobium) การกระจายตัวของกล้วยไม้สกุล Dendrobium พบได้ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงนิวกีนี และ ออสเตรเลีย ทางด้านควีนส์แลนด์ ฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ไปจนถึงนิวซีแลนด์ และ ตาฮิติ กล้วยไม้ในสกุลนี้ประกอบไปด้วยจำนวนชนิดมากกว่า 1000 ชนิด สามารถแบ่งออกได้เป็น 41 กลุ่ม (Section) ถูกจัดอยู่ใน Subtribe Dendrobiinae การใช้ประโยชน์ของกล้วยไม้สกุลนี้มีมาช้านานแล้ว ชาวพื้นเมืองเผ่า อะบอริจิน ใช้ลำลูกกล้วยของ Dendrobium canaliculatum และ Den. speciosum เป็นอาหาร มีการใช้น้ำจากรอยตัดของลำลูกกล้วยมาเป็น fixative เมื่อเขียนภาพสีลงบนก้อนหิน หรือ เปลือกไม้ ทางเอเชียมีการใช้ลำลูกกล้วยของ Den. crumenatum มาสานเป็นหมวก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ สกุลหวาย
สกุลหวาย มีลักษณะทางพฤษศาสตร์ ดังนี้
ลำต้น มีลำต้นเทียม (pseudobulb) หรือ ลำลูกกล้วย อยู่บนส่วนของลำต้นที่แท้จริง ลำต้นที่แท้จริงเป็นส่วนที่เรียกว่าเหง้า (rhizome) มีการเจริญเติบโตไปทางด้านข้าง (sympodial) มีขนาดตั้งแต่ 1 – 488 ซม. บางชนิดมีส่วนของข้อ ปล้องเห็นได้ชัดเจน ลักษณะของลำต้น สามารถเรียกได้หลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่
– รูปกระบอง ลำต้นเทียม บวมพองในส่วนยอด ในขณะที่ส่วนปลายที่ติดอยู่กับเหง้า มีลักษณะเรียวผอม
– รูปกระบอก ลำต้นเทียม มีขนาดเท่า ๆ กันตลอดตั้งแต่โคนถึงปลายยอด
– รูปลำลูกกล้วย ลำต้นแบบนี้ มีส่วนโคนบวมพอง และ เรียวลงไปหาส่วนปลาย
– รูปกระสวย ลำต้นเทียม มีการขยายขนาดตรงส่วนกลาง ส่วนของโคน และ ปลายยอด เรียวเล็ก
ราก เป็นรากอากาศ เนื่องจากเป็นพวกที่เกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ หรือ โขดหิน
ใบ มีจำนวนได้ตั้งแต่ 1 ใบ จนกระทั่งจำนวนมากต่อต้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ใบเป็นรูปไข่ เรียวยาว มีขนาดต่าง ๆ กัน มีทั้งลักษณะใบแบน กลม ม้วนงอ หรือ เป็นร่องลึกตรงกลาง ส่วนปลายเป็นรูปสามเหลี่ยม มีทั้งพวกที่มีการผลัด หรือ ใบเขียวตลอดปี
ช่อดอก มีช่อดอกทั้งแบบช่อสั้น หรือ ช่อยาว ช่อห้อย หรือ ตั้งตรง โดยทั่วไปแล้ว ช่อดอกเกิดจากส่วนข้างของลำต้นเทียมบริเวณข้อใกล้ส่วนยอด มีบางชนิดที่ช่อดอกเกิดจากส่วนปลายของลำต้นเทียม พวกที่มีการผลัดใบมีแนวโน้มในการสร้างช่อดอกจากส่วนของข้อที่อยู่บนลำต้นเทียม เป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นกลุ่มดอกก็ได้ ในขณะที่พวกที่ไม่มีการผลัดใบ มีการสร้างช่อดอกบนส่วนของ ลำต้นเทียมที่อยู่ใต้บริเวณที่มีใบอยู่
ดอก มีทั้งที่เป็นดอกเดี่ยว และ เป็นดอกช่อ ขนาดดอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงขนาดใหญ่ การบานของดอก มีบางชนิดที่บานเพียง 1 วัน หรือ น้อยกว่านั้น ในขณะที่มีบางชนิด มีอายุการบานของดอกนานสัปดาห์ ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของดอกกล้วยไม้สกุลหวายคือ มีส่วนของปาก (lip) เชื่อมต่อกับกลีบข้างชั้นนอก (lateral sepals) ที่เรียกว่า เดือย (spur)
การปลูกเลี้ยง และ วัสดุที่ใช้ปลูกกล้วยไม้สกุลหวาย
สกุลหวาย กล้วยไม้สกุลนี้มีความหลากหลายมาก การปลูกเลี้ยงในรายละเอียดของแต่ละชนิด จะมีการกล่าวถึงต่อไป แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงการปลูกเลี้ยงโดยรวม โดยทั่วไป ความต้องการแสง ประมาณ 50% ของแสงแดดปกติ (1000 – 4000 ฟุตเทียน) ฉะนั้น ในการปลูกเลี้ยง ต้องมีการพรางแสงด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิมีความหลากหลายมากขึ้นอยู่กับชนิดที่ปลูกเลี้ยง ส่วนของความชื้นควรอยู่ประมาณ 80% การให้น้ำขึ้นอยู่กับชนิด พวกที่ไม่มีการผลัดใบ มีความต้องการน้ำมากในช่วงที่มีการเจริญเติบโต และ ควรให้วัสดุปลูกชื้นอยู่เสมอ ในขณะที่พวกที่มีการผลัดใบ อาจต้องมีการงดให้น้ำในขณะที่มีการพักตัว การให้ปุ๋ย ต้องให้อย่างเหมาะสม ตามช่วงระยะการเจริญเติบโต อาจให้ปุ๋ยสลับกันระหว่างปุ๋ยสูตรที่มีไนโตรเจนสูง และ ปุ๋ยสูตรเสมอ ในช่วงที่มีการออกดอก อาจให้ฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้นด้วย โดยทั้งนี้ ให้สังเกตลักษณะใบ และ ต้นด้วย อาจมีการให้ธาตุอาหารรองเสริมเป็นครั้งคราว
วัสดุปลูกที่ใช้ ควรเป็นวัสดุปลูกที่มีการระบายน้ำดี อากาศถ่ายเทได้สะดวก สามารถผูกติดไว้กับกิ่งไม้ หรือ เปลือกไม้ได้ การปลูกในกระถาง นิยมเลือกใช้ขนาดกระถางที่มีขนาดเล็กกว่าต้นที่จะปลูกเล็กน้อย เนื่องจากการปลูกลงในกระถางที่มีขนาดใหญ่มาก ทำให้มีความชื้นมากเกินไป ต้นที่ปลูกใหม่เกิดการเน่าได้ง่าย วัสดุปลูกที่นิยมใช้ในการปลูกลงกระถาง อาจเป็นอิฐทุบ ถ่าน เปลือกไม้ กาบมะพร้าวสับ หรือ กาบมะพร้าวที่อัดลงกระถางสำเร็จรูปก็ได้ ความเป็นกรดด่างที่ทำให้กล้วยไม้สกุลหวายเจริญเติบโตได้ดีอยู่ระหว่าง 5 – 6 และ การย้ายปลูกควรจะทำประมาณ 2 ปี / ครั้ง
การปลูกเลี้ยง สามารถเลือกวิธีการปลูกที่เหมาะสมได้จากทรงต้น พวกที่ลำต้นตั้งตรง สามารถใช้พวกอิฐทุบเป็นวัสดุปลูก เนื่องจากจะทำให้ต้นตั้งอยู่ในกระถางได้ดีแล้ว อิฐที่หนักอยู่แล้ว ช่วยให้กระถางไม่ล้มง่ายอีกด้วย พวกต้นสูง ควรมีหลักยึดช่วยพยุงลำต้น และไม่ควรปลูกให้ส่วนของเหง้าจมลงไปอยู่ในวัสดุปลูก พวกต้นห้อย ควรแขวนไว้กับกระถาง หรือ ตะกร้า โดยผูกติดกับวัสดุปลูกที่เป็นเปลือกไม้ หรือ ต้นเฟิร์น พวกที่เป็นกึ่งเลื้อย ควรปลูกโดยการยึดไว้กับเปลือกมะพร้าว หรือ กิ่งไม้ แล้วใช้วัสดุปลูกที่อุ้มน้ำได้ดี คลุมไว้ ส่วนพวกที่เป็น lithophyte ให้ผูกติดกับ ก้นกระถาง หรือ เปลือกไม้ ก็ได้ แต่ต้องคอยให้ความชื้นอย่างสม่ำเสมอ
ชนิดของกล้วยไม้สกุลหวาย
สกุลหวาย เนื่องจากกล้วยไม้ในสกุลนี้มีจำนวนมาก จะขอกล่าวถึงชนิดที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในประเทศไทย และ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อวงการกล้วยไม้โดยทั่วไป
กลุ่ม Callista
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย และ ประเทศใกล้เคียง ลำต้นกะทัดรัด ไม่มีเยื่อหุ้มลำต้น ช่อดอกเป็นแบบช่อห้อย เจริญเติบโตในที่ลุ่มของเขตร้อน เหมาะที่จะทำเป็นไม้กระถางโชว์ อายุการบานของดอกค่อนข้างสั้น และ เมื่อตัดออกมาจากต้นอายุการปักแจกันสั้นมาก
Den. chrysotoxum เอื้องคำ
พบในไทย พม่า และ จีนตอนใต้ ขึ้นในป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูง 400 – 1600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล กลีบดอกมีสีเหลือง ปากมีสีเหลือง ตรงกลางมีสีเหลืองเข้ม ขอบปากหยักเป็นครุย ช่อดอกโค้งห้อย ลำลูกกล้วยสูง 10 – 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางของลำ 3 ซม. ลำมีสีออกเหลือง ช่อดอกเกิดจากปลายของลำลูกกล้วย ดอกขนาด 3 – 4 ซม. จำนวนดอก 20 ดอก / ช่อ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกบานนาน 2 – 3 สัปดาห์ ดอกบานเดือน มี.ค. – เม.ย.
Den. densiflorum เอื้องม่อนไข่เหลี่ยม
พบในเนปาล ภูฎาน พม่า ไทย และ จีนตอนใต้ เป็นพวกอิงอาศัย ขึ้นในที่ระดับความสูง 1000 – 1900 เมตร ลำลูกกล้วยสูง 30 – 45 ซม. ลักษณะลำเป็นสี่เหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ช่อดอกเป็นช่อห้อย ดอกค่อนข้างแน่น มีจำนวนดอกได้ถึง 50ดอก / ช่อ ดอกขนาด 3 – 5 ซม. ดอกมีสีเหลือง ปากสีออกส้ม มีกลิ่นหอม ดอกบานนาน 1 – 2 สัปดาห์ ดอกบานเดือน ส.ค. – ก.ย.
Den. farmeri เอื้องมัจฉานุ
พบในอินเดีย พม่า ไทย ไปจนถึงมาเลเซีย ลำลูกกล้วยเป็นสี่เหลี่ยม สูง 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางของลำ 3 ซม. ช่อดอกเป็นช่อห้อย ยาว 15 – 20 ซม. ช่อดอกเกิดจากปลายลำลูกกล้วย จำนวน 20 ดอก / ช่อ กลีบดอกมีสีขาว ขาวอมชมพู หรือ ม่วงอ่อน ปากมีสีเหลือง ของปลายปากมีสีขาว ดอกบานไม่ทน ประมาณ 1 สัปดาห์ ดอกบานเดือน มี.ค. – เม.ย.
Den. lindleyi (Den. aggregatum) เอื้องผึ้ง
พบในอินเดีย พม่า ไทย และ จีนตอนใต้ ชอบขึ้นอยู่บนต้นไม้ที่มีการผลัดใบ ทำให้ได้รับแสงแดดในช่วงฤดูหนาว ลำลูกกล้วยสั้น ประมาณ 6 – 8 ซม. อาจยาวได้ถึง 10 ซม. มีใบเพียง 1 ใบ / ลำลูกกล้วย ช่อดอกเป็นช่อห้อย จำนวนดอก 15 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 3 ซม. กลีบดอก และ ปากมีสีเหลือง ซึ่งความเข้มของสีดอกมีความผันแปรอยู่มาก ตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองเข้ม ดอกมีอายุการบาน 1 สัปดาห์ ดอกบาน มี.ค. – เม.ย.
Den. palpebrae เอื้องมัจฉา
พบในอินเดีย พม่าไทย ลาว เวียดนาม และ จีนตอนใต้ ขึ้นได้ในที่สูง 800 – 1500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยมีขนาด 15 – 50 ซม. ลำลูกกล้วยผอม มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. ช่อดอกเกิดบริเวณใต้ใบ จำนวนดอก 6 – 15 ดอก / ช่อ ขนาดดอก 4 – 6 ซม. กลีบดอกมีสีขาว ไม่มีสีอื่นเจือปน ปากมีสีเหลือง ดอกบานเดือน มี.ค. – เม.ย.
Den. sulcatum เอื้องจำปาน่าน
พบในอินเดีย พม่า ไทย ลาว และ เวียดนาม ที่ระดับความสูง 500 – 1000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ลำลูกกล้วยสูง 20 – 45 ซม. มีลักษณะเป็นทรงกระบอกค่อนข้างแบน กว้าง 1.5 ซม. มีใบ 2 ใบ ช่อดอกออกจากลำลูกกล้วยบริเวณใกล้ปลายยอด จำนวนดอก 3 – 15 ดอก/ช่อ ดอกขนาด 2.5 – 3.5 ซม. กลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน ปากมีสีเหลืองเข้ม ห่อเข้าหากัน คล้ายท่อ ดอกบานเดือน มี.ค. – เม.ย.
Den. thrysiflorum เอื้องม่อนไข่ใบมน
พบในอินเดีย พม่า ไทย และ จีนตอนใต้ ที่ระดับความสูง 1200 – 2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล บริเวณที่เป็นป่าผลัดใบ ลำลูกกล้วยกลม ไม่มีเหลี่ยม ยาวได้ถึง 60 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. ลักษณะคล้ายกระบอง ช่อดอกเกิดที่ปลายลำลูกกล้วย ช่อดอกค่อนข้างแน่น จำนวนดอก 30 – 50 ดอก / ช่อ ดอกขนาด 4 – 5 ซม. กลีบดอกสีขาว หรือ เหลืองอ่อน ปากมีสีเหลือง หรือ ส้ม ดอกบานนาน 1 สัปดาห์ ดอกบาน มี.ค. – เม.ย.
สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเชีย และ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และ รวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1000 ชนิดพันธุ์ มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่ และ เป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บน และ คู่ล่างขนาดยาวพอ ๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยว ๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐาน หรือ สันหลังของเส้าเกสร และ ส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่าง และ ส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า “เดือยดอก” สำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่าง ๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้น ๆ