การให้น้ำกับกล้วยไม้ มีความสำคัญอย่างไร

น้ำกับกล้วยไม้

น้ำกับกล้วยไม้ การให้น้ำ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ เนื่องจาก น้ำเป็นตัวทำละลายสารอาหารต่าง ๆ เพื่อให้รากของกล้วยไม้สามารถดูดอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ กล้วยไม้ต้องการน้ำที่สะอาดปราศจากเกลือแร่ที่เป็นพิษ มีความเป็นกรดเป็นด่าง หรือ ค่า pH อยู่ระหว่าง 6 – 7 แต่น้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดต่อความต้องการของกล้วยไม้คือ น้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ มีค่า pH ประมาณ 6.5 น้ำที่มี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือ สูงกว่า 7 จึงไม่ควรนำมาใช้รดกล้วยไม้ การทดสอบคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำแบบง่าย ๆ คือ ทดสอบด้วยกระดาษลิสมัส ในการเลี้ยงกล้วยไม้ถ้าน้ำมี pH ต่ำกว่า 5.5 หรือ สูงกว่า 7 หากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำนี้รดกล้วยไม้ เนื่องจากไม่สามารถหาน้ำที่มีคุณสมบัติดีกว่า ควรทำให้น้ำมี pH อยู่ระหว่าง 6 – 7 ก่อน ดังนี้

  • น้ำที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 คือน้ำมีฤทธิ์เป็นกรดค่อนข้างมาก แก้ไขโดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ตุ่ม หรือ โอ่งไว้แล้วใช้ โซเดียมไฮดร็อกไซด์ ค่อย ๆ เทใส่ลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนทั่ว ทำการทดสอบระดับ pH จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6 – 7
  • น้ำที่มีค่า pH สูงกว่า 7 คือน้ำที่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนตปนอยู่ในน้ำแสดงว่าน้ำนั้นมีความเป็นด่างมากไม่เหมาะที่จะนำไปรดกล้วยไม้ วิธีแก้ หรือ ทำให้น้ำนั้นมี pH อยู่ที่ 6 – 7 ก่อน โดยตักน้ำใส่ภาชนะ เช่น ถัง ตุ่ม หรือ โอ่งไว้ แล้วใช้ กรดไนตริก ค่อย ๆ เทใส่ลงไป คน หรือ กวนให้เข้ากันจนทั่ว จนกระทั่งน้ำมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6 – 7

แหล่ง หรือ ชนิดของน้ำกับกล้วยไม้

น้ำกับกล้วยไม้

  • น้ำฝน เป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด เนื่องจากไม่มีเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ปนอยู่  และ มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ คือมี pH ประมาณ 6.5 ซึ่งเหมาะสมต่อความต้องการของกล้วยไม้มากที่สุด ข้อเสียในการใช้น้ำฝนคือการกักเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณมากเพียงพอกับปริมาณของกล้วยไม้ต้องใช้เนื้อที่ และ ภาชนะมาก
  • น้ำประปา เป็นน้ำที่ผ่านกรรมวิธีการตกตะกอน และ ได้รับการปรุงแต่งในด้านความสะอาด และ ความเป็นกรดเป็นด่างมาแล้ว เป็นน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ได้ดีรองมาจากน้ำฝน ข้อเสียของน้ำประปาก็คือจะมีคลอรีนซึ่งเป็นพิษต่อกล้วยไม้ปนอยู่ด้วย วิธีแก้โดยใส่น้ำประปาในตุ่ม หรือ ภาชนะวางไว้กลางแดดอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้คลอรีนสลายตัวไปเสียก่อนจึงนำไปใช้รดกล้วยไม้ได้
  • น้ำบาดาล เป็นน้ำที่ได้จากการเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปจากผิวดินจะมีฤทธิ์เป็นด่าง และ มีสารเกลือแร่ต่าง ๆ เช่น แคลเซียมไบคาร์บอเนต เกลือแร่พวกนี้ทำให้ฟอสเฟตบางชนิดตกตะกอนภายในรากกล้วยไม้ และ ทำให้รากกล้วยไม้ผุง่าย ดังนั้นก่อนนำไปใช้ควรกำจัดสารที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้เหล่านี้เสีย โดยต้องให้ค่า pH อยู่ระหว่าง 6 – 7 เสียก่อน หากไม่สามารถแก้ไขได้ไม่ควรนำไปใช้รดกล้วยไม้ เพราะจะทำให้กล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโต และ อาจตายไปในที่สุด วิธีการปรับน้ำบาดาลโดยการผสมกรดฟอสฟอริก 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปีบ ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน จึงใช้รดต้นไม้ได้ และ ยังเป็นการเพิ่มปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืชอีกด้วย
  • น้ำบ่อ หรือ น้ำคลอง เป็นน้ำที่มีดิน หรือ ตะกอนทำให้น้ำขุ่น และ มีสารเกลือแร่ต่าง ๆ ปนอยู่ และ มีฤทธิ์เป็นด่าง ถ้าน้ำไม่เน่าเสียมีกลิ่นเหม็น ก่อนนำไปใช้ควรทำการกรองให้น้ำใส และ ปรับปรุงคุณภาพให้ปราศจากสารเกลือแร่ที่เป็นพิษต่อกล้วยไม้ และ ทำให้มีค่า pH อยู่ระหว่าง 6 – 7 ก่อนนำไปรดกล้วยไม้ แต่ถ้าน้ำเน่าเสียกลิ่นเหม็นมีเชื้อโรคไม่ควรนำไปรดกล้วยไม้เพราะโรคอาจระบาดต่อไปยังกล้วยไม้ได้ ข้อเสียของน้ำบ่อ หรือ น้ำคลอง คือ เมื่อนำมาใช้รดกล้วยไม้มักจะทำให้เกิดตะไคร่น้ำจับกระถาง เครื่องปลูก  และ รากกล้วยไม้ได้ง่าย ซึ่งตะไคร่น้ำจะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร และ ไม่สวยงามตามต้องการ

วิธีการให้น้ำกับกล้วยไม้

น้ำกับกล้วยไม้ วิธีการให้น้ำกล้วยไม้สามารถทำได้หลายวิธี จะเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อายุของกล้วยไม้ และ ความสะดวกของผู้ปลูกเลี้ยงเอง ซึ่งวิธีการให้น้ำมีดังนี้

  • จุ่มน้ำ โดยตักน้ำใส่ภาชนะแล้วนำกล้วยไม้มาจุ่มลงในน้ำ การจุ่มน้ำมีข้อดีคือน้ำจะซึมไปทั่วทุกส่วนของเครื่องปลูก เหมาะกับกล้วยไม้ที่ไม่มีรากเกะกะ เช่น สกุลหวาย สกุลแคทลียา มีเครื่องปลูกแน่น เช่น กาบมะพร้าวอัด ออสมันด้าอัด หรือ เครื่องปลูกหนัก เช่น อิฐ กรวด ถ้าเครื่องปลูกเบา เช่น ถ่าน ถ่านจะลอย การรดน้ำวิธีนี้เป็นการล้างเครื่องปลูกให้สะอาดอยู่เสมออีกด้วย ข้อเสียคือการจุ่มน้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ รากอ่อน หน่ออ่อน ไปกระทบกระแทกกับภาชนะที่ใส่น้ำได้ และถ้ากล้วยไม้มีโรคแมลงอาศัยอยู่ น้ำในภาชนะอาจเป็นพาหะให้โรคแมลงระบาดได้ง่าย และการให้น้ำวิธีนี้ไม่เหมาะกับปริมาณกล้วยไม้มาก ๆ เพราะเป็นวิธีที่ช้ามาก เหมาะกับกล้วยไม้จำนวนน้อย และปลูกเลี้ยงในที่ไม่ต้องการให้พื้นเฉอะแฉะ เช่นระเบียงบ้าน ริมหน้าต่าง เป็นต้น
  • ไขน้ำให้ท่วม โดยทำโต๊ะปลูกกล้วยไม้ที่ขังน้ำได้ เวลาจะให้น้ำก็ไขน้ำให้ขังเต็มโต๊ะ ทิ้งไว้จนเห็นว่าเครื่องปลูกดูดซับน้ำเพียงพอแล้วจึงไขน้ำออก วิธีนี้ทำได้รวดเร็วกับกล้วยไม้จำนวนมาก ไม่ทำให้กล้วยไม้ไม่บอบช้ำ แต่ป้องกันโรคระบาดจากแมลงได้ยาก
  • ใช้บัวรดน้ำ วิธีนี้มีข้อดีคือต้นทุนต่ำ ส่วนข้อเสียคือถ้ามีกล้วยไม้จำนวนมากจะต้องใช้เวลาในการรดน้ำมาก หรือ ถ้าขาดความระมัดระวังฝักบัว ก้านบัว อาจจะกระทบต้น กระทบดอกกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้บอบช้ำได้
  • สายยางติดหัวฉีด การใช้สายยางควรใช้หัวฉีดชนิดฝอยละเอียด การรดน้ำวิธีนี้สะดวก รวดเร็วและทุ่นแรง เหมาะสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก
  • สปริงเกอร์ คือการใช้หัวฉีดติดตั้งอยู่กับที่แล้วพ่นน้ำเป็นฝอยให้กระจายไปทั่วบริเวณที่ต้องการ การรดวิธีนี้สะดวกสบายและรวดเร็วที่สุด ข้อเสียคือต้องลงทุนสูงและใช้ได้กับกล้วยไม้ที่มีความต้องการน้ำเหมือน ๆ กัน ไม่เหมาะกับการเลี้ยงกล้วยไม้จำนวนน้อย แต่หลากหลายชนิด

น้ำกับกล้วยไม้ กับ การให้น้ำที่เหมาะสม

น้ำกับกล้วยไม้ การรดน้ำกล้วยไม้ปกติควรรดวันละครั้ง ยกเว้นวันที่ฝนตก หรือ กระถาง และ เครื่องปลูกยังมีความชุ่มชื้นอยู่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดในเวลาที่แดดไม่ร้อนจัด เวลาที่เหมาะสมคือ ตอนเช้าเวลาประมาณ 6.00 – 9.00 น. เพราะนอกจากจะไม่ร้อนแล้วจะมีช่วงเวลาที่มีแสงแดดยาวนาน กล้วยไม้มีความจำเป็นต้องใช้แสงแดดไปช่วยในการปรุงอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ฉะนั้นช่วงเวลากลางวันจึงเป็นเวลาที่กล้วยไม้ต้องใช้รากดูดความชื้น และ นำอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ มากที่สุด การรดน้ำในเวลาเช้าจึงได้รับประโยชน์มากที่สุด

น้ำกับกล้วยไม้ ในการรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้เปียก เพื่อเป็นการชะล้างเศษปุ๋ยที่เหลือตกค้างซึ่งอาจเป็นพิษแก่กล้วยไม้ให้ไหลหลุดไป ไม่ควรรดน้ำแรง ๆ หรือ รดน้ำอยู่กับที่นาน ๆ ควรรดแบบผ่านไปมาหลาย ๆ ครั้งจนเปียกโชก ทั้งนี้เพื่อให้กระถาง และ เครื่องปลูกมีโอกาสดูดซึมอุ้มน้ำไว้เต็มที่ การรดน้ำกล้วยไม้ควรรดให้ถูกเฉพาะรากกระถาง และ เครื่องปลูกเท่านั้น ไม่ควรรดน้ำให้ถูกเรือนยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ที่มีเรือนยอดใหญ่ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้าและสกุลช้าง เพราะน้ำอาจตกค้างอยู่ที่เรือนยอดซึ่งอาจทำให้เกิดโรคยอดเน่าได้

Facebook
Twitter
LinkedIn