การผสมเกสรกล้วยไม้ การผสมพันธุ์เกสรกล้วยไม้ เกิดขึ้นเมื่อมีการถ่ายละอองเกสร (pollination) ตามด้วยการปฏิสนธิ (fertilization) วัตถุประสงค์การผสมพันธุ์กล้วยไม้ได้มีการทำขึ้นเพื่อ
- เป็นการเพิ่มจำนวนต้น ให้มีจำนวนมากขึ้น อาจได้มาจากการผสมตัวเอง (selfing) หรือ การผสมข้ามต้น (crossing) ในชนิดเดียวกัน ซึ่งการผสมตัวเอง มีโอกาสที่จะได้ลูกผสมใหม่ที่ไม่เหมือนต้นแม่ทั้งหมด เพราะองค์ประกอบทางพันธุกรรมของกล้วยไม้จัดเป็น พวก highly heterozygous ทำให้เกิดการกระจายตัวของลักษณะต่าง ๆ อย่างมากมาย หรือ ถ้าเป็นการผสมข้ามต้นในชนิดเดียวกัน โอกาสที่จะได้ลูกผสมใหม่มีลักษณะแปลก ๆ ก็สูงมากขึ้นอีก เช่น การผสมช้างแดงต้น A และ ช้างแดงต้น B เป็นต้น
- เป็นการสร้างชนิดกล้วยไม้ใหม่ ๆ ขึ้นมา ที่มีลักษณะต่างไปจากพ่อ และ แม่ เป็นการผสมข้ามอีกแบบหนึ่ง แต่วิธีการนี้ เป็นการผสมข้ามชนิด หรือ ข้ามสกุล (interspecific hybridization หรือ intergeneric hybridization) กล้วยไม้เป็นไม้ดอกที่มีความสามารถในการผสมข้ามสกุลได้มากที่สุด
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม ในการผสมเกสรกล้วยไม้
การผสมเกสรกล้วยไม้ อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- ไม้จิ้มฟัน เหตุผลคือ ไม้จิ้มฟันนี้มันสะอาดกว่าไม้ที่เก็บได้ทั่วไปนั่นเอง
- ป้ายชื่อ ใช้สำหรับเขียนชื่อชนิดที่ผสม และ ว / ด / ป ที่ผลิต
- ดินสอ 2b ( หรือ เข้มกว่า เพื่อตัวหนังสือที่ติดทนนานไม่เลือนจนลืม) ถ้าใช้ปากหมึกของปากกาที่ถูกน้ำบ่อย ๆ ประกอบกับถูกแสงแดดแผดเผา มันจะเลือนเอาเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ
- ลวดฟิว หรือ สายไฟเส้นเล็ก ๆ (ถ้าลวดทั่วไปมันจะบาดโคนดอกได้) เอาไว้แขวนป้ายชื่อติดกับดอก
- พันธุ์ไม้ที่ต้องการผสม
ขั้นตอนการผสมเกสรกล้วยไม้
การผสมเกสรกล้วยไม้
ขั้นตอนที่ 1 ให้เรานำไม้จิ้มฟัน เขี่ยดึงเจ้าเกสรตัวผู้ที่หลบอยู่ด้านในหมวกเกสรนี้ออกมา เขี่ยมาแล้วจะได้ก้อนสีเหลือง กลม ๆ 2 ก้อน ติดมา
ขั้นตอนที่ 2 นำก้อนเหลือง ๆ นี้ ใส่เข้าไปด้านใต้ดอก ในนั้นจะมีเมือกเหนียว ๆ อยู่ ให้เราดันเกสรตัวผู้เข้าไปลึก ๆ ป้องกันว่าเวลาเส้าเกสรบีบตัวจะได้ไม่หลุดออกมา การผสมแบบนี้ใช้ได้กับ กล้วยไม้ทุกสกุล ยกเว้นรองเท้านารีที่พิเศษกว่าชาวบ้านเสร็จแล้วก็แขวนป้ายชื่อบอกด้วยว่า ผสมอะไรไป เช่น แวนดาใบร่อง x แวนดาฟ้ามุ่ย ตามด้วยวันที่ ผสม 27 / 03 / 53 เป็นต้น
เกร็ดความรู้ : ชื่อผสมที่เราเขียนในป้ายนั้น ชื่อที่อยู่ด้านซ้าย จะหมายถึงชื่อแม่พันธุ์ และ ชื่อทางด้านขวา จะหมายถึงพ่อพันธุ์ โดยเราจะนำเครื่องหมาย X คั่นระหว่างกลางของพ่อแม่พันธุ์ที่ผสม เช่น ต้นแม่เป็นแวนดาใบร่อง ต้นพ่อเป็นฟ้ามุ่ย เราจะเขียนว่า แวนดาใบร่อง x ฟ้ามุ่ย เป็นต้น
TIP : ในการผสมเกสร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าดอกถึงเวลาผสมแล้ว กรณีนี้ให้ดูดอกของกล้วยไม้ เราจะผสมเกสรกล้วยไม้ก็ต่อเมื่อดอกบานเต็มที่แล้ว อย่างน้อย 2 – 3 วันก็ผสมได้แล้ว
การผสมเกสรกล้วยไม้ ดูอย่างไรว่า กล้วยไม้ของเราฝักติดแล้ว
การผสมเกสรกล้วยไม้ เมื่อเราผสมเกสรไปแล้ว ดอกกล้วยไม้จะแสดงอาการแพ้ท้องในวันต่อมา และ มีอาการดังต่อไปนี้
- คือลักษณะของดอกกล้วยไม้ที่ยังไม่ได้รับการผสมเกสร ดอกจะเต่งตึง เส้าเกสรที่ยังคงยาวเรียวผอมเพรียวสวย และ ยังคงมีกลิ่นหอมแรง
- ลักษณะของดอก 1 วันให้หลัง หลังจากผสมเกสร เพียงแค่ 1 วันเราจะสังเกตอาการได้ทันทีว่าผสมสำเร็จ หรือ ไม่ หากบริเวณเส้าเกสรเริ่มบวมเป่งกลีบดอกเริ่มเปลี่ยนสีต่างไปจากดอกอื่น ๆ แบบนี้แปลว่า อาจจะติด แล้วก็ได้ ในช่วงนี้กลิ่นของกล้วยไม้จะเริ่มจางลงเพราะไม่ต้องใช้ล่อแมลงแล้วนั่นเอง
- ผ่านไปราว ๆ 1 สัปดาห์ กลีบจะเริ่มเฉาจนหมด ฐานรองดอกก็จะเปลี่ยนเป็นฝัก หากผสมไม่ติดจะกลายเป็นสีเหลือง และ ร่วงไปในที่สุด
เกร็ดความรู้ : ในการผสมกล้วยไม้ อายุฝักจะขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด บางชนิดถือฝักเป็นปี บางชนิดถือฝักเพียง 5 – 6 เดือน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจดวันที่ผสมติดป้ายเอาไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ฝักแตกก่อน หากฝักแตกแล้ว เราจะไม่สามารถนำส่งเพาะแล็ปกล้วยไม้ได้ !
การผสมเกสรกล้วยไม้ ดูอย่างไรว่าฝักแก่ ไม่แก่ ? วิธีการดูฝักนั้นไม่ยากเลย ฝักที่แก่แล้วจะเริ่มเปลี่ยนสี จากเขียวเป็นเหลือง และ ผิวฝักก็จะดูแก่ตามอายุฝักไปด้วยเช่น ถ้าฝักแก่มากจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองตรงปลายจุกเดิมที่เคยมี กลีบดอกติดอยู่ เมื่อแก่เต็มที่ บริเวณปลายฝักจะเริ่มแตก ออกก่อน และ รอยแตกจะเริ่มยาวขึ้นมาจนถึงด้านบนสุด ภายในฝัก เมื่อฝักกล้วยไม้แตกออก เราจะพบกับผงสีเหลือง ๆ ส้ม ๆ ผงเหล่านี้คือเมล็ดของกล้วยไม้ เมล็ดนับล้านเมล็ดนี้ จะปลิวไปตกตามบริเวณต่าง ๆ ของต้นไม้ในป่า และ จะงอกเป็นกล้วยไม้ต้นใหม่ แต่จะงอก หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความชื้น และ แสงที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน