กล้วยไม้หอม ดอกสวย พลังเย้ายวนแห่งธรรมชาติ

กล้วยไม้หอม

กล้วยไม้หอม ธรรมชาติของเมืองไทยโดยทั่วไป มีพรรณไม้พื้นบ้านอย่างหลากหลาย พรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมได้เข้าไปอยู่ในวิญญาณคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน ดังจะพบได้จากวรรณกรรมต่าง ๆ รวมถึงร้อยกรอง และ เนื้อเพลงพื้นบ้าน ที่สะท้อนให้เห็นความงามของพรรณไม้ท้องถิ่น โดยเฉพาะดอกไม้นานาชนิด นอกจากนั้นยังกล่าวถึงกลิ่นหอมซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตไทยอย่างลึกซึ้ง ถ้าจะมองถึงความหลากหลาย ทั้งในด้านรูปลักษณะ และ อุปนิสัย เราจะพบได้ว่า กล้วยไม้เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะ และ อุปนิสัยแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง ในด้านกลิ่นหอมของดอกกล้วยไม้ ก็ใช่ว่าไม่อาจเรียกร้องความสนใจให้ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสจากธรรมชาติ แต่กลับมีส่วนร่วมเสริมสร้างความรู้สึกภายในจิตวิญญาณให้กับผู้มีโอกาสสัมผัสอย่างลึกซึ้ง อนึ่ง ทุกชีวิตซึ่งดำรงอยู่ตามธรรมชาติ นอกจากมีเหตุผลอยู่บนพื้นฐานตัวเองแล้ว อีกด้านหนึ่งย่อมมีการพึ่งพาซึ่งกัน และ กัน ร่วมด้วย เพื่อให้ธรรมชาติของโลกมีความสมบูรณ์ครบถ้วน สำหรับจำพวกที่มีกลิ่นหอม บางชนิดอาจส่งกลิ่นหอมเฉพาะช่วงเวลาเช้า บางชนิดก็ส่งกลิ่นหอมในช่วงเวลาบ่าย ไปจนกระทั่งถึงเย็น และ ค่ำ แต่ก็มีบางชนิดที่ให้กลิ่นหอมตลอดทั้งวัน รูปลักษณะ สีสัน และ กลิ่นหอม ล้วนมีผลทำให้ดอกกล้วยไม้มี พลังเย้ายวน ซึ่งไม่เพียงแมลงเท่านั้น แม้มนุษย์แต่ละคนซึ่งถือเป็นชีวิตลักษณะหนึ่งที่อยู่ในธรรมชาติก็ยังตกเป็นทาสความเย้ายวนของดอกกล้วยไม้ด้วยเช่นกัน

กล้วยไม้หอม เอื้องสามปอย (Vanda denisoniana)

กล้วยไม้หอม เอื้องสามปอย (Vanda denisoniana) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ในจังหวัดภาคเหนือ และ ออกดอกเริ่มต้นแต่ปลายฤดูฝนไปจนถึงต้นฤดูร้อน ในบรรดาเอื้องสามปอย มีอยู่พันธุ์หนึ่งซึ่งคนท้องถิ่นภาคเหนือนิยมเรียกชื่อว่า เอื้องสามปอยหลวง ดอกมีสีเหลืองอมสีน้ำตาล มีกลิ่นหอมเย็นชวนดมมาก และ เป็นพันธุ์ที่หายาก เนื่องจากภาคเหนือเป็นดินแดนเกษตรกรรมที่สมบูรณ์มาแต่อดีต นอกจากนั้นยังมีกล้วยไม้ป่าอยู่ตามธรรมชาติอย่างหลากหลายด้วย หลังเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว เกษตรกรนิยมพักผ่อน โดยจัดกิจกรรมทำบุญเข้าวัด งานวัด ภาษาชาวเหนือเรียกกันว่างานปอย คำว่าหลวงหมายถึงใหญ่ ดังนั้น เอื้องสามปอยหลวงจึงหมายความว่า ให้ดอกบานทนได้นานถึงช่วงสามงานวัดติดต่อกัน อนึ่ง มีการกล่าวขานกันในระหว่างชาวบ้านว่า เอื้องสามปอยหลวงส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงเวลาบ่ายไปจนถึงเย็น และ ค่ำ นอกจากนั้นกลิ่นของเอื้องสามปอยหลวงยังกระจายไปไกลอีกด้วย

กล้วยไม้หอม เอื้องแซะ (Dendrobium scabrillingae)

กล้วยไม้หอม เอื้องแซะ (Dendrobium scabrillingae) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ในระดับพื้นที่สูงของจังหวัดภาคเหนือ คนพื้นบ้านภาคเหนือทราบกันดีว่า แหล่งกำเนิดของเอื้องแซะ อยู่ที่อำเภอแม่เสรียง ภายในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เอื้องแซะได้เข้ามาใช้ในประเพณีนิยมของชาวเมืองเหนือมาเป็นเวลาช้านาน ฤดูดอกของกล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ในช่วงฤดูที่มีอากาศเย็นไปจนกระทั่งถึงฤดูร้อน จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏพบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสภาคเหนือ มีชาวเขาเผ่าลั๊วะ นำกล้วยไม้เอื้องแซะขึ้นทูลเกล้าถวาย เป็นที่ทราบกันดีว่ากล้วยไม้ชนิดนี้ ชาวเหนือนิยมใช้ในประเพณีรดน้ำดำหัว เพื่อคารวะผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพรักอย่างสูง ดังจะพบได้จากประเพณีวันขึ้นปีใหม่ และ วันสงกรานต์ มีกล้วยไม้พื้นบ้านของไทยที่มีกลิ่นหอมอย่างหลากหลาย ณ โอกาสนี้ใคร่ขอหยิบยกเอากล้วยไม้บางกลุ่มซึ่งมีความสวยงามในสายตาคนทั่วไปมาเป็นตัวอย่าง

กล้วยไม้หอม กล้วยไม้ช้าง (Rhynchostylis gigantea) และ ไอยเรศ (Rhynchostylis retusa)

กล้วยไม้หอม กล้วยไม้ช้าง (Rhynchostylis gigantea) กล้วยไม้ชนิดนี้มีประวัติความเป็นมาในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เมื่อประมาณร่วม 100 ปีมาแล้ว วงการกล้วยไม้ของไทยซึ่งขนาดนั้นเริ่มต้นขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีฐานันดร และ พ่อค้าข้าราชการระดับสูงกล้วยไม้ช้างได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกล้วยไม้ชนิดนี้ มีลักษณะช่อดอกยาวคล้ายหางกระรอก (foxtail) ในแต่ละช่อมีดอกไม่ต่ำกว่า 50 ดอก พื้นกลีบสีขาว ประจุดเล็ก ๆ สีม่วงอ่อน (amethyst purple) ฤดูดอกอยู่ระหว่างช่วงเริ่มต้นของอากาศเย็น ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีกลิ่นหอมค่อนข้างแรง ภายในชนิดเดียวกันยังมีบางต้นที่ให้สี (amethyst purple) ทั้งดอกซึ่งเรียกกันว่า ช้างแดง กับมีบางต้นให้ดอกสีขาวบริสุทธิ์ที่เรียกกันว่า ช้างเผือก แต่ทั้งสองแบบหาจากธรรมชาติได้ยากมาก ระหว่างช่วงปี พ.ศ.2502 – 2503 ในช่วงเดือนมกราคม องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงต้อนรับพระราชาธิบดีแห่งประเทศสวีเดนกับประเทศเบลเยียม พระองค์ท่านได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงกล้วยไม้พื้นบ้านของไทยถวายการต้อนรับขึ้น ณ อาคารสันทนาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล้วยไม้ช้างได้ทำหน้าที่ในระหว่างช่วงนั้นอย่างสวยงามมาก อีกทั้งยังส่งกลิ่นหอมตลบไปทั่วบริเวณอาคาร ซึ่งตั้งโต๊ะเสวยสุธารส ณ โอกาสนั้นด้วย

พวงมาลัย หรือ ไอยเรศ (Rhynchostylis retusa) เป็นกล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับกล้วยไม้ช้าง มีลักษณะช่อดอก และ ดอกคล้ายคลึงกัน แต่ให้ช่อดอกยาวกว่า นอกจากนั้นฤดูดอกของกล้วยไม้ชนิดนี้ จะบานรับกันกับเดือนเมษายนซึ่งมีอากาศค่อนข้างร้อนมาก นับเป็นกล้วยไม้หอมอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่คิดนำกล้วยไม้มาปลูกติดกับต้นไม้ในบริเวณสวนภายในบ้าน เพื่อความสวยงามแบบธรรมชาติ

ยังมีกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) ประเภทเอื้องต่าง ๆ ซึ่งพบอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเทือกเขาที่มีระดับความสูงต่าง ๆ กันเช่น เอื้องผึ้ง (Dendrobium aggegatum) เอื้องคำ (Dendrobium chrysotoxum) และ เอื้องม่อนไข่ (Dendrobium thyrsiflorum) และ เอื้องสายชนิดต่าง ๆ (Dendrobium in section eugemanthe) ชนิดต่าง ๆ ที่มีกลิ่นหอม

กล้วยไม้หอม บรรดากล้วยไม้กลิ่นหอมเหล่านี้ เท่าที่พบเห็นอยู่ในธรรมชาติ แม้กระทั่งการนำมาปลูกไว้ตามต้นไม้ในบริเวณบ้านมักมีแมลงมาช่วยผสมเกสรจนกลายเป็นของธรรมดา สิ่งที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงตัวอย่างจากกล้วยไม้ที่มีกลิ่นหอมซึ่งพบได้ทั่วไปในสภาพธรรมชาติของเมืองไทย ยิ่งเป็นช่วงฤดูร้อน ดูเหมือนกล้วยไม้ประเภทที่มีกลิ่นหอมจะออกดอกบานสะพรั่ง คล้ายกับว่าท่ามกลางสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน คนท้องถิ่นจะได้รับทั้งความสวยงามร่วมกับกลิ่นหอมจากดอกกล้วยไม้ นับเป็นสิ่งทดแทนทางจิตใจที่ธรรมชาติมอบให้ไว้แก่คนไทยได้เป็นอย่างดี

Facebook
Twitter
LinkedIn