กล้วยไม้ หรือ เอื้อง (Orchids)

กล้วยไม้ และ การจำแนกประเภทตามลักษณะต่าง

กล้วยไม้ หรือ เอื้อง เป็นพืชดอกที่มีความหลากหลายมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยมีประมาณ 899 สกุล และ มีประมาณ 27,000 ชนิดที่มีการยอมรับ คิดเป็น 6 – 11% ของพืชมีเมล็ด มีการค้นพบราว ๆ 800 ชนิดทุก ๆ ปี มีสกุลใหญ่ ๆ คือ Bulbophyllum (2,000 ชนิด), Epidendrum (1,500 ชนิด), Dendrobium (1,400 ชนิด) และ Pleurothallis (1,000 ชนิด) สายพันธุ์ของกล้วยไม้ที่ขึ้น และ เติบโตในป่าเรียกว่า กล้วยไม้ป่า 

วงศ์ย่อยต่าง ๆ ของกล้วยไม้ ได้แก่

  • Apostasioideae Rchb. f. เป็นกลุ่มไม้ที่เติบโตบนพื้นดินในป่า มี 2 สกุล คือ Apostasia และ Neuwiedia
  • Cypripedioideae Lindley เป็นกลุ่มไม้ที่เกิดบนพื้นดิน โขดหิน และ บนซากอินทรียวัตถุ มี 4 สกุล คือ Cypripedium, Paphiopedilum (สกุลรองเท้านารี) , Phragmipedium และ Selenipedium
  • Spiranthoideae Dressler ไม่พบกล้วยไม้ไทย และ ลูกผสมไทยที่เกิดในวงศ์ย่อยนี้
  • Orchidoideae ไม่พบในไทย
  • Epidendroideae วงศ์ย่อยนี้มีความหลากหลายด้านที่อยู่อาศัย และ รูปร่างลักษณะ มีหลายสกุลในวงศ์นี้ที่พบ และ นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ สกุล Vanilla สกุลต่าง ๆ ในกลุ่มแคทลียา สกุลหวาย และ สกุลสิงโตกลอกตา
  • VANDOIDEAE Endlicher ได้แก่ กลุ่มแวนด้า

การจำแนกกล้วยไม้

กล้วยไม้ การจำแนกประเภทของกล้วยไม้ออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะภายนอก เพื่อสะดวกในการปลูกเลี้ยง การขยายพันธุ์ ตลอดจนการศึกษาค้นคว้า ซึ่งการจำกล้วยไม้สามารถจำแนกได้ดังนี้

จำแนกตามลักษณะราก

เป็นการจำแนกตามลักษณะราก หรือ ตามระบบรากของกล้วยไม้

  • ระบบรากดิน

ระบบรากเกิดจากหัวที่อวบน้ำอยู่ใต้ดิน ตัวรากจะมีน้ำมาก เช่นกล้วยไม้สกุลนางอั้ว พบมากในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศในฤดูกาลที่ชัดเจน เช่น ฤดูฝนมีฝนตกชุก และ มีฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝน หัวจะแตกหน่อ ใบอ่อนจะชูพ้นขึ้นมาบนผิวดิน และ ออกดอกในตอนปลายฤดูฝน เมื่อพ้นฤดูฝนไปแล้วใบจะโทรม และ แห้ง เหลือเพียงหัวที่อวบน้ำ และ มีอาหารสะสมฝังอยู่ใต้ดิน ทนแล้งได้

  • ระบบรากกึ่งดิน

รากมีลักษณะอวบน้ำ ใหญ่หยาบ และ แตกแขนงแผ่กระจายอย่างหนาแน่น เก็บสะสมน้ำได้ดีพอสมควร กล้วยไม้ประเภทนี้พบอยู่ตามอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังร่วนโปร่ง เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลสเปโธกล๊อตติส สกุลเอื้องพร้าว เป็นต้น

  • ระบบรากกึ่งอากาศ

ชั้นเซลล์ผิวของรากหนา และ มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ผิวนอกเกลี้ยงไม่มีขน เก็บ และ ดูดน้ำได้มาก สามารถนำน้ำไปใช้ตามเซลล์ผิวได้ตลอดความยาวของราก มักมีรากแขนงใหญ่หยาบอยู่กันอย่างหนาแน่น แต่รากมีขนาดเล็กกว่ารากอากาศ เช่น กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลออนซิเดี้ยม เป็นต้น

  • ระบบรากอากาศ

รากมีขนาดใหญ่ แขนงรากหยาบ เซลล์ที่ผิวรากทำหน้าที่ดูดน้ำ เก็บน้ำ และ ลำเลียงน้ำไปตามรากได้ดี ทำให้สามารถทนความแห้งแล้งได้ดี รากอากาศไม่ชอบอยู่เปียก และ แฉะนาน ปลายรากสดมีสีเขียวของคลอโรฟีลล์สามารถทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับใบเมื่อได้รับแสงสว่าง รากไม่หลบแสงสว่างเหมือนรากต้นไม้ดินทั่ว ๆ ไป เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลแมลงปอ สกุลเข็ม และ สกุลเรแนนเธอร่า

การจำแนก กล้วยไม้ ตามลักษณะลำต้น

กล้วยไม้ ลำต้นของกล้วยไม้ที่โผล่พ้นจากเครื่องปลูกแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  • ลำต้นแท้

มีข้อ ปล้อง เหมือนกับลำต้นของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่ว ๆ ไป ที่ส่วนเหนือข้อจะมีตา ซึ่งจะเจริญเป็นหน่อ และ ช่อดอกได้ ลำต้นประเภทนี้จะเจริญเติบโตออกไปทางยอด ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนด้า แมลงปอ และ รองเท้านารี

  • ลำต้นเทียม

 หรือ ที่เรียกว่า ลำลูกกล้วย ทำหน้าที่สะสมอาหาร ตาที่อยู่ตามข้อบน ๆ ของลำลูกกล้วยสามารถแตกเป็นหน่อ หรือ ช่อดอกได้ แต่ลำต้นที่แท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้คือ เหง้า ซึ่งเจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก ลักษณะของเหง้ามีข้อ และ ปล้องถี่ กล้วยไม้ที่มีลำต้นลักษณะนี้ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย แคทลียา เอพิเด็นดรั้ม และ สกุลออนซิเดี้ยม

การำแนก กล้วยไม้ ตามลักษณะการเจริญเติบโต

กล้วยไม้ จำแนกได้ 2 ประเภท คือ

  • ประเภทไม่แตกกอ

เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด คือ ตาที่ยอดจะแตกใบใหม่เจริญขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนโคนต้นจะออกรากไล่ตามขึ้นไป ส่วนของโคนจะแห้งตายไล่ยอดขึ้นไป เมื่อกล้วยไม้มีอายุมากขึ้น กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในประเภทไม่แตกกอได้แก่ กล้วยไม้ในสกุลแวนด้า สกุลเข็ม สกุลช้าง สกุลกุหลาบ สกุลเสือโคร่ง สกุลม้าวิ่ง สกุลแมลงปอ สกุลเรแนนเธอร่า และ สกุลแวนด๊อฟซิส

  • ประเภทแตกกอ

มีรูปทรง และ การเจริญเติบโตคล้ายกับพืชที่แตกกอทั่วไป คือในต้นหนึ่ง หรือ กอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น ต้นแท้จริงของกล้วยไม้ประเภทนี้จะอยู่ในเครื่องปลูก เช่น กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี อาจมีลำต้นที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างโผล่ยื่นออกมาซึ่งมักบวมเป่ง และ ทำหน้าที่สะสมอาหาร ต้นส่วนนี้เรียกว่า “ลำลูกกล้วย” กล้วยไม้ประเภทแตกกอมีระบบรากทั้งที่เป็นรากดิน รากกึ่งดิน และ รากกึ่งอากาศ ลักษณะการถือฝัก และ เมล็ด ปลายฝักจะห้อยชี้ดิน เมล็ดที่สมบูรณ์เมื่อแก่จะมีสีเหลือง ส่วนเมล็ดลีบมีสีขาว กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในประเภทแตกกอ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี สกุลหวาย สกุลแคทลียา สกุลออนซิเดี้ยม และ สกุลแกรมมาโตฟิลลั่ม

กล้วยไม้ จากการสำรวจในอดีตพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกล้วยไม้อยู่ในป่าธรรมชาติ ไม่ต่ำกว่า 1000 ชนิด ทั้งประเภทที่พบอยู่บนต้นไม้ บนพื้นผิวของภูเขา และ บนพื้นดิน สรุปได้ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของประเทศไทยเอื้ออำนวยแก่การเจริญงอกงาม ของกล้วยไม้เป็นอย่างมาก ในอดีตชาวชนบทของไทย โดยเฉพาะในแหล่งที่เคยมีกล้วยไม้ป่าอุดมสมบูรณ์ ได้นำกล้วยไม้ป่ามาปลูกเลี้ยงโดยเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำกล้วยไม้มาปลูกไว้กับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้ ๆ บ้านเรือน การเลี้ยงกล้วยไม้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกเลี้ยงอย่างจริงจังโดยชาวตะวันตกผู้หนึ่ง ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เห็นว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จึงได้สร้างเรือนกล้วยไม้อย่างง่าย ๆ และ นำเอากล้วยไม้ป่าจากเขตร้อนของอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากกล้วยไม้ในเอเชีย และ เอเชียแปซิฟิก โดยนำมาปลูกเลี้ยงเป็นงานอดิเรกในขณะเดียวกันก็มีเจ้านายชั้นสูง และ บรรดา ข้าราชการที่ใกล้ชิด ให้ความสนใจเลี้ยงกล้วยไม้เป็นงานอดิเรกเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มบุคคลสูงอายุซึ่งเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อความสุขทางใจ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ อย่างไรก็ตามการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ในกลุ่มผู้สูงอายุ และ กลุ่มผู้มีเงินในยุคนั้น และ เป็นการปลูกเลี้ยงที่นิยมกล้วยไม้พันธุ์ต่างประเทศ ส่วนกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าของประเทศไทยจะนิยม และ ยกย่องเฉพาะพันธุ์ ที่หายาก และ มีราคาแพง

Facebook
Twitter
LinkedIn